เพิ่มเพื่อน
Line ID: @bkpn

ขอเริ่มต้นด้วย Prelude บทนำแห่งเรื่องราว

ฉันได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่เขียนบทความของที่นี่ค่ะ ฉันรักในการเขียนและการหาข้อมูลมากๆ จึงรู้สึกเป็นปลื้มที่ได้รับมอบหมายงานชิ้นสำคัญครั้งนี้ เมื่อได้รับมอบหมายฉันก็พยายามคิดหาประเด็นในการเปิดตัวครั้งแรกของบทความนะคะ จนกระทั้งคิดได้ว่าเมื่อเราเริ่มต้นเราก็ควรจะเขียนอะไรที่หมายถึงการเริ่มต้น เป็นการแนะนำตนสั้นๆ เพื่อเข้าสู่บทความอีกหลายๆ บทความที่กำลังตามมา ฉันก็เลยคิดถึงคำว่า "Prelude"

สำหรับนักเรียนเปียโนคลาสสิคเมื่อเรียนมาสักระยะ อาจจะได้เริ่มรับมอบหมายให้เล่นเพลงบางเพลงที่มีชื่อเพลงว่า Prelude และก็อาจจะมีความสงสัยในจิตใจลึกๆ ว่าไอ้เพลงที่เล่นอยู่นี่มีความหมายว่ายังไงหนอ??? วันนี้ฉันก็เลยอยากจะมาช่วยแก้ปัญหาความสงสัยเล็กๆ น้อยๆ ให้กระจ่างค่ะ

อย่างที่บอกว่าพอนึกถึงการเริ่มต้น การเกริ่นนำ ก็คิดถึงคำว่า Prelude ทำไมน่ะเหรอคะ??? นั่นก็เพราะคำว่า Prelude นั่นมีความหมายว่าการกระทำหรือเหตุการณ์ที่จะแนะนำท่านทั้งหลายเข้าสู่เรื่องราวที่สำคัญต่อๆ มา (อ่านแล้วงงมาก ... เพราะมันเป็นภาษาพจนานุกรมมากเกินไป) โดยย่อก็แปลว่าการเกริ่นเข้าเรื่องนั่นเองค่ะ ไม่น่าแปลกใจที่เราจะพบคำว่า Prelude ในหนังสือต่างประเทศบางเล่มจั่วหัวก่อนเข้าเรื่อง นั่นก็คือส่วน "คำนำ" ของหนังสือ ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องราวภายในค่ะ

Prelude01

ประวัติศาสตร์ของ Prelude

กับบทเพลงก็เช่นเดียวกัน Prelude ในภาษาดนตรีจะหมายถึงบทเพลงเล็กๆ ที่จะถูกเล่นก่อนที่จะแสดงดนตรีรายการอื่นๆ ยาวๆ ประวัติความเป็นมาในสมัยก่อนโน้นนนนนนนนน~ ย้อนไปประมาณสมัยเรเนสซองส์ (ไม่อาจทราบได้ว่ายุคเดียวกับพระเจ้าเหาหรือไม่) สมัยนั่นก่อนที่จะทำการแสดงดนตรีเขาก็จะเล่นบทเพลงสั้นๆ ที่เรียกว่า Prelude กันค่ะ แต่เขาไม่ได้ใช้เปียโนหรือเล่นกับออเครสต้าทั้งวงเหมือนปัจจุบันนะคะ เขาเล่นกับเครื่องดนตรีที่เรียกว่า "Lute" หน้าตาคล้ายกีต้าร์ (รูปข้างๆ เลยค่ะ) แต่สายเยอะมากกว่ากีต้าร์และดูท่าจะเล่นยากกว่ากันเยอะ เพลง Prelude ที่เริ่มใช้เครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดเล่นเกิดครั้งแรกประมาณ ศต. ที่ 17 หรือประมาณปี 1650 กว่าๆ แต่ว่า Prelude ในยุคเริ่มต้นที่ใช้เล่นกับเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดอย่างฮาร์พซิคอร์ด (ประมาณว่าเป็นเปียโนโบราณนะคะ) เขาจะแต่งเพลงโดยใช้โน้ตตัวขาวทั้งหมดเลยค่ะ ไม่มีเส้นกั้นห้อง ไม่มีเครื่องหมายกำหนดจังหวะ คนแต่งก็แต่งไปเรื่อย คนที่นำบทเพลง Prelude แบบนี้ไปเล่นก็เล่นตามใจ จะเล่นโน้ตตัวไหนยาวขนาดไหนก็ได้ (อ่านมาถึงตรงนี้ก็แหม พวกนักเรียนเปียโนมือใหม่ที่ไม่แม่นเรื่องนับจังหวะหลาย ๆคนคงอยากเป็นนักตรียุคนั้น แล้วก็รับจ้างเล่น Prelude ประเภทนี้มันอย่างเดียว ดูท่าจะสบายใจ) เขาเรียก Prelude แบบนี้ว่า Unmeasured prelude ค่ะ (แบบที่เห็นโน้ตในรูปด้านล่าง)

Prelude02

เรื่องอดีตอันเก่าเกินอ่านไปก็อาจจะได้แค่ความรู้ไว้ประดับหัวเท่ห์ๆ นะคะ เอาไปโม้ให้ชาวบ้านฟังได้เท่านั้น คราวนี้เรามาดูเรื่องที่น่าจะมีประโยชน์สำหรับการเรียนเปียโนมากขึ้นกันสักหน่อย Prelude ที่นักเรียนเปียโนนิยมเล่นกันนั้นก็หนีไม่พ้น Prelude ของ Bach และ Prelude ของ Chopin

Prelude ของคุณปู่ Bach

Prelude ของปู่ Bach จะถูกตามต่อด้วย Fugue (อ่านว่าฟิ๊วก์) เสมอ จุดประสงค์ Prelude ของปู่ไม่ได้มีเพื่อเกริ่นนำเพลงใหญ่ๆ ในการแสดงหรอกค่ะ แต่จุดประสงค์ของปู่แกคือ เป็นการเกริ่นนำไปสู่ Fugue บทเพลงที่ล้อท่วงทำนองหลักซ้ำๆ วนไปวนมา และก็ต้องใช้ทักษะนิ้วที่ดีในการเล่น Preludes and Fugues ของปู่บาค ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับนักดนตรีรุ่นเยาว์ในการศึกษา ปู่บาคแต่งไว้ด้วยกัน 2 เซ็ต หรือสมัยนี้เขานำมารวบรวมและมีชื่อหนังสือเท่ห์ๆ ว่า The Well-Tempered Clavier เล่ม 1 และ เล่ม 2 แต่ละเล่มบรรจุ Prelude และ Fugue อย่างล่ะ 24 บท โดยที่ปู่แกแต่งครบทุกคีย์นะคะ จะเรียงจาก เบอร์ 1 ใช้คีย์ C major เบอร์ 2 ก็จะเป็น C minor เบอร์ 3 เป็นคีย์ C# major เบอร์ 4 ก็จะเป็น C# minor ... ไล่อย่างงี้ไปเรื่อยๆ (ตามลำดับโครมาติก) จนเบอร์ 24 จบที่คีย์ B minor ค่ะ

เพราะงั้นถ้ามีคนบอกว่า ตอนนี้น้า ... เล่น Prelude and Fugue ของปู่บาค เบอร์ 12 อยู่ จะตอบกันได้ไหมน้าว่า เขาคนนั้นเล่นเพลงที่อยู่ในคีย์อะไร??? ไหนๆ ๆ ... ใครตอบได้บ้างคะ เฉลย F minor นะคะ

Prelude ของ Chopin

Prelude ในยุคโรแมนติกเป็นต้นไป ไม่จำเป็นต้องใช้เพื่อเล่นเกริ่นนำการแสดง เพราะการแสดงดนตรีไม่มีแบบแผนมากเรื่องสุดโต่งแบบอดีตอีกต่อไปแล้วว่าต้องเล่นอะไรก่อนหลัง Prelude จึงมีความหมายในเชิงการบรรยายภาพหรือความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ ของนักดนตรีมากกว่า นอกจากนี้ Prelude ในยุคโรแมนติกจนมาถึงยุคปัจจุบันศิลปินโยงเรื่องราวของบทเพลงเข้ากับบทกวีหรือภาพวาด เพื่อความสอดคล้องทางอารมณ์อีกด้วยนะคะ Prelude ของ Chopin Opus 28 เป็นผลงานนึงที่แต่ละเบอร์เรียงร้อยความรู้สึกเล็กๆ ออกมาเหมือนบทกวีหรือภาพเขียนชิ้นเล็กๆ ค่ะ Prelude Op.28 ของ Chopin มีทั้งหมด 24 เบอร์ ตัวเลขนี้คุ้นๆ ไหม??? 24 เบอร์ก็คือ 24 คีย์เพลงค่ะ แต่ไม่เหมือนกับปู่บาคที่แต่งไล่ C > C# > D > ......> B แต่ Chopin ใช้วิธีการเรียงโดยหลักของ Circle of 5th (หากใครเพิ่งเริ่มเรียนดนตรียังไม่รู้เรื่องนี้ ก็ลองถามคุณครูได้นะคะ) ว่าง่ายๆ Prelude ของ Chopin เบอร์ 1 จะเป็นคีย์ C major ปกติ เบอร์ 2 จะถูกแต่งโดยคีย์ A minor เบอร์ 3 แต่งในคีย์ G major เพราะฉะนั้นเบอร์ 4 จะเป็นคีย์ E minor ค่ะ เพราะงั้นข้อสังเกตุอีกอย่างของ Prelude op.28 ของ Chopin ก็คือ เบอร์ที่เป็นเลขคี่ จะเป็นคีย์เมเจอร์ เพลงจะฟังมีความสุขสบายใจ แต่ะถ้าเบอร์ที่เป็นเลขคู่ จะกลายเป็นคีย์ไมเนอร์ (ตามหลักคู่ relative ของคีย์เพลง) ก็จะเป็นเพลงเศร้าค่ะ

งั้นเราก็มาถามคำถามเล็กๆ กันดีกว่า ... หากว่าน้องกี้เล่น Prelude ของ Chopin เบอร์ 5 อยู่ ซึ่งเพลงของน้องกี้เล่นอยู่ในคีย์ D major พี่ฝนบอกว่าพี่ฝนเล่นเบอร์ 6 อยู่ จะตอบได้ไหมน้าว่าเพลงที่พี่ฝนเล่น อยู่ในคีย์อะไรเอ่ย??? เฉลย B minor นั่นเอง

----------
จบแล้วค่ะ ตอนแรกกะว่าจะเขียนเยอะกว่านี้ กลัวคนอ่านตามอ่านไม่ไหว รายละเอียดมันเยอะมากค่ะ นี่ก็ตัดทอนกันสุดๆ แล้ว สัปดาห์หน้าจะพยายามหาเรื่องราวที่น่าสนใจมาเขียนเพิ่มอีกนะคะ แล้วเจอกันใหม่ค่ะ




บทความที่น่าสนใจ จาก "บ้านครูเปียโน"

พื้นฐานการอ่านโน้ตสากล