เพิ่มเพื่อน
Line ID: @bkpn

เปียโน : ประวัติความเป็นมาอย่างย่อแล้วนะ (4)

นวัตกรรมของเปียโนในส่วนต่างๆ เราก็ได้อ่านกันไปถึง 5 หัวข้อแล้วด้วยกัน ครั้งนี้ก็จะต่อกับบทความครั้งก่อน และก็เป็นบทความตอนจบเกี่ยวกับประวัติเปียโนที่ฉันร่ายยาวเอาไว้ตั้งแต่ตอนที่ 1 บทความเดินทางมาจนจบใช้เวลานานพอดูเลยนะคะ สำหรับใครที่อ่านจนมาถึงตอนสุดท้ายและติดตามกันมาตลอดผู้เขียนก็ต้องขอขอบคุณมากๆ ค่ะ

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาฉันขอเล่าต่อเรื่องนวัตกรรมของเปียโนเลยแล้วกัน

6. Duplex Scaling แบบจูนได้

ต้องขออธิบายก่อนจะเข้าเรื่อง Duplex Scaling แบบจูนได้ ...

คราวที่แล้วเคยเล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับ Bridge ของเครื่องสายนิดหน่อยแต่ไม่ละเอียดนัก อย่างไรก็ดีให้ลองนึกภาพ Bridge หรือหย่องของไวโอลินก่อนแล้วกันนะ เราจะพบว่าตำแหน่งที่สีไวโอลินแล้วเกิดเสียงก็คือการสีจุดที่เหนือหย่อง สำหรับเปียโนเองเมื่อพูดถึงสายของมัน ตำแหน่งที่ค้อนจะตีสายเพื่อทำให้เกิดเสียงนั้นอยู่ระหว่าง Bridge กับหมุดจูน (tuning pins) สำหรับบริเวณใต้หย่องของไวโอลินหรือสำหรับเปียโนจะเป็นบริเวณของ Bridge กับหมุดขึงสาย (hitch pins) เป็นบริเวณที่ไม่ได้มีประโยชน์ใช้สอยแต่อย่างใด (ฝรั่งเรียกว่าเป็นจุด waste end ค่ะ)

ในปี 1872 นานมากอยู่ นาย Theodore Steinway หนึ่งในสมาชิกครอบครัวทำเปียโนของ Steinway คิดค้นให้บริเวณดังกล่าวได้รับการใช้สอย หลักการคล้ายกับการสะท้อนของเสียงส่งต่อไปยังสาย Aliquots แต่ของเขาเท่ห์กว่าตรงที่ว่า เมื่อใช้สายเปียโนสายเดิมแต่เพิ่มพื้นที่ใช้สอยระหว่าง Bridge กับ hitch pins ให้สะท้อนเสียงแทนที่จะเพิ่มสาย aliquots ในการสะท้อน เรื่องของเสียงฮาร์โมนี่และความสัมพันธ์ทางการประสานขั้นคู่ จะเที่ยงตรงและแม่นยำเกิดเสียงที่ดีกว่า รางแท่งเหล็กที่กั้นขึ้นมาระหว่าง Bridge กับ hitch pins จึงเกิดขึ้นเพื่อเสริมหน้าที่เข้าลงตรงจุดบอดที่เคยไร้ประโยชน์มานาน เขาเรียกเจ้านี่ว่า "Duplex Scaling" ค่ะ

คราวนี้ ... มันพิเศษตรงที่ว่า Duplex Scaling ธรรมดานี่ก็เจ๋งแล้ว สมัยนี้เค้ามีเจ๋งขึ้นไปอีก นั่นก็คือเดี๋ยวนี้เราสามารถจูนเจ้าแท่งเหล็กยาว Duplex Scaling ให้มีความเที่ยงตรงมากขึ้นต่อเสียงได้อีกด้วยค่ะ ความคิดตรงนี้ถูกต่อยอดโดยบริษัทเปียโนที่ชื่อว่า Mason & Hamlin

เร็วๆ นี้ก็ยังมีนวัตกรรมใหม่เพิ่มขึ้นอีกค่ะ บริษัท Fazioli ดัดแปลงความคิดของ Theodore Steinway โดยเสริมรางแสตนเลสเข้าไปเพื่อให้สาย Aliquots จูนได้

สรุปสุดท้ายเดี๋ยวนี้เปียโนปรับแต่งได้ทุกอย่างเอาให้ถูกใจผู้เล่นผู้ฟังเต็มที่

7. สี่สายในโน้ตเดียว

สายที่ 4 ไม่ใช่เป็นแบบ Aliquots ที่มาเสริม แต่ที่บอกว่ามี 4 สายนั้นคือ ค้อนของเปียโนจะตีโดนทั้ง 4 สายในเวลาเดียวกัน เปียโน 4 สายในโน้ตเดียวนำเสนอโดยบริษัททำเปียโนที่ชื่อ Borgato ช่วงเสียงที่ใช้ 4 สายนั้นจะเป็นช่วงเสียง Treble มีหลายบริษัทที่เคยใช้เปียโนแบบ 4 สายอย่างงี้ หนึ่งในนั้นก็คือ August Forster นะคะ

8. เรื่องของขนาด

"ใครๆ ก็ชอบใช่ไหมใหญ่ๆ ยาวๆ !!!" อย่าคิดไปไกล เราพูดกันถึงเปียโนนะคะ

เปียโนที่ตัวใหญ่และยาวก็ทำให้มีพื้นที่สำหรับสายที่ยาวและมีน้ำหนักมากค่ะ ปัจจุบันเปียโนที่ใหญ่ที่สุด ณ ตอนนี้เห็นจะเป็น Rubenstein Piano R-371 เป็นคอนเสิร์ตแกรนด์ที่ต้องสั่งทำนะคะ ไปหาซื้อยืนชี้ๆ เอาตามร้านนี่ไม่มีขาย เปียโนตัวรุ่นนี้สั่งออฟชั่นเสริมได้ตามต้องการค่ะ ความใหญ่ของมันก็ใหญ่จริงๆ นะ เปียโนยาวถึง 12 ฟุตกับอีก 2 นิ้ว กว้าง 5 ฟุต 6 นิ้ว และสูง 41 นิ้วค่ะ สุดท้ายมันหนักสัก 2500 ปอนด์

ก็อาจจะมีหลายคนชอบของใหญ่ๆ แต่อยากได้ทันที แบบว่าไปยืนชี้ๆ แล้วก็สั่งกลับบ้าน ก็ลองดูตัวนี้ค่ะ Fazioli F308 ยาว 10 ฟุตกว่าๆ หนักประมาณ 1500 ปอนด์ ตัวนี้พิเศษมากๆ ตรงที่สามารถสั่ง option เสริมแพดเดิ้ลให้มีที่เหยียบ 4 อัน เหยียบกันงงไปข้างนึงนะคะ อันที่เกินมานั้นมีความพิเศษมากคือจะช่วยทำให้ง่ายขึ้นเวลารูดคีย์ เล่นเพลงเร็วมาก เพลงที่ legato หรือต้องการความต่อเนื่องความคล่องตัวสูง (อ่านจากโฆษณาของ Fazioli มาค่ะ ฟังดูเว่อร์ครอบจักรวาลดีนะ)

เดี๋ยวก่อน อ่านจบมาอาจจะมีบางคนเถียง... ใหญ่ไปก็งั้นๆ "เล็กๆ แต่เร้าใจใช้นิ้วสะดวกดีกว่ากันเป็นไหนๆ " ฮั่นแน่! อย่าคิดไปไกลค่ะ เราก็คงยังพูดถึงเรื่องเปียโนอยู่เช่นเดิม แต่คราวนี้เราไม่ได้พูดถึงตัวเปียโนนะ เราพูดถึงคีย์บอร์ด

ฉันก็เป็นหนึ่งในเด็กผู้หญิงมือเล็กๆ ค่ะ แบบว่าตอนที่เริ่มเรียนเปียโนใหม่ๆ ฉันเล่นคู่ 8 ไม่ถึง ถึงก็แบบเล่นตรงติ่งของเปียโนเลย ก็มีคนสอนฉันแหกนิ้วค่ะ (ไม่ใช่ใครที่ไหนแฟนของครูสอนเปียโนของฉันเองล่ะ) คีย์บอร์ดเปียโนมันใหญ่ไปสำหรับสาวๆ หลายๆ คนนะคะ ยิ่งเรียนเพลงระดับสูงขึ้นก็ยิ่งจะเข้าใจว่ามันไม่ง่ายเลยที่ต้องฝึกเทคนิคเสริมขึ้นมาประเภทว่าแสร้งทำเป็นกดคู่ที่โน้ตมันเขียน แต่หารู้ไม่ว่าลักไก่เอา

บริษัทนามว่า Steinbuhler & Company ผลิตคีย์บอร์ดสำหรับคนมือเล็กๆ ค่ะ ซึ่งคีย์บอร์ดจะมีขนาดเล็กกว่าแบบปกติ 7/8 เท่า (ชื่อทางการค้าคือ 7/8 DS Standard Keyboard) และ เล็กกว่าปกติ 15/16 เท่า (ชื่อทางการค้า 15/16 Universal Keyboard) อ่านมาถึงตรงนี้ใครมือเล็กๆ ฉันแนะนำให้ลองหาไม้บรรทัดออกมา กางมือสุดๆ แล้วทาบลงบนไม้บรรทัดด้านหน่วยวัดที่เป็นนิ้ว จากนั้นก็เปิดเวปนี้ขึ้นมาค่ะ http://www.steinbuhler.com/html/handsizepage.html เขาจะมีรูปบอกว่าช่วงกว้างของนิ้วกางได้ขนาดไหนควรจะใช้ผลิตภัณฑ์คีย์บอร์ดแบบไหนของเขา และด้านล่างเวปจะแสดงรูปให้เห็นด้วยว่าสาวที่กางมือได้ไม่ถึงแปดนิ้วนั้น พอเล่นคู่ 8 กับคีย์บอร์ด 7/8 DS Standard แล้วเล่นง่ายสยายไปเลย ตัวบริษัท Steinbuhler & Company นั้นจะผลิตแต่เฉพาะคีย์บอร์ดที่ไว้สำหรับเปลี่ยนติดตั้งลงบนแกรนด์เปียโน และผลิตเปียโนอัพไรท์ที่มีคีย์บอร์ดขนาดเล็กกว่ามาตราฐานเท่านั้นนะคะ ไม่ได้ผลิตแกรนด์เปียโนออกมาขายเอง

9. นวัตกรรมทิ้งทวนฝากไว้กับระบบดิจิตอลอันทันสมัย

เนื่องจากโลกเปลี่ยนไปมาก ยุคสมัยที่ถูกครอบงำด้วยเทคโนโลยีทางดิจิตอล เปียโนแบบดิจิตอลก็ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองการเล่น การอัดเสียง และวิวัฒนาการกลายเป็นเครื่องที่สามารถเลียนเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ เข้ามาอยู่ในเครื่องเดียวได้อีกด้วยนะคะ อย่างไรก็ดีนวัตกรรมในยุคปัจจุบันก็ยังไม่เนียนถึงขนาดทำสิ่งที่เครื่องเปียโนอคูสติกทำไม่ได้ค่ะ พร้อมทั้งเรื่องเกี่ยวกับสัมผัสแอคชั่นของเปียโน ยังไม่มีเปียโนไฟฟ้าตัวไหนที่สามารถทำให้เหมือนเปรี๊ยบหรอกนะ เราก็คงหวังว่าสักวันโลกอาจจะพัฒนาไปถึงจุดที่เทคโนโลยีสามารถทำได้ตรงนั้นค่ะ ความจริงถ้าให้เจาะกันเข้าไปถึงประวัติของเปียโนจำพวก electronic และ digital ก็บทความก็คงจะยาวยืดออกไปอีกเพราะมีรายละเอียดที่ค่อนข้างลึกเช่นกัน และเครื่องมือประเภทนี้ตอบสนองเพลงยุค 90s มาจนถึงยุคปัจจุบันได้มากมายค่ะ

การพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ที่จะไม่มีวันจบ

เปียโน

เรื่องราวที่เล่ามายาวมากเหลือจะบรรยาย หลายปีมาแล้วที่นาย Bartolomeo Cristofori คิดค้นเปียโนขึ้นมา (สงสัยว่าเขาเป็นใครลองย้อนกลับไปอ่านตอนแรกใหม่ได้ค่ะ) ปัจจุบันเปียโนของเขาลงเหลืออยู่ในโลก 3 หลังเท่านั้น (อาจจะเหลือเยอะกว่านี้แต่ค้นพบอย่างเปิดเผยแค่ 3 หลัง) และ 3 หลังที่ว่าปัจจับันอยู่ ณ ที่เหล่านี้ ที่แรกคือ Metropolitan Museum ที่ New York ที่ต่อมาคือ Museo Nazionale degli Strumenti Music ใน Rome และที่สุดท้ายคือ Musikinstrumenten-Musewm ที่ Leipzig University ซึ่งเปียโนที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ทั้งสามก็ยังเล่นได้ตามปกติมีเสียงออกมาเป็นเพลงนะ เพียงแต่ชิ้นส่วนบางอย่างอาจจะชำรุดไปบ้างเท่านั้น

เห็นอย่างงี้แล้วก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกันที่วิวัฒนาการของเปียโนที่ Bartolomeo Cristofori คิดค้นขึ้นมา ... สมัยนี้หน้าตาและน้ำเสียงของมันจะเปลี่ยนไปประหนึ่งดาราเกาหลีศัลยกรรมมาเรียบร้อย

การเดินทางของประวัติศาสตร์เปียโนยังไม่จบแค่นี้แม้บทความเรื่องนี้ของเราต้องขอบจบ เพราะโลกยังคงหมุนและวิวัฒนาการต่างๆ ก็ยังคงเพิ่มขึ้นไม่หยุด การเรียนรู้ของชีวิตเราจึงไม่มีวันจะจบสิ้นตราบเท่าที่เรายังคงมีชีวิตเราก็ยังคงจะเรียนรู้ศึกษาเรื่องราวทั้งภายในตนและภายนอกตนกันต่อไปนะคะ

ขอบคุณทุกๆ ท่านที่อ่านมาจนถึงตอนสุดท้ายจากใจจริงเลยค่ะ

<<< ตอนก่อนหน้า  




บทความที่น่าสนใจ จาก "บ้านครูเปียโน"

พื้นฐานการอ่านโน้ตสากล