เพิ่มเพื่อน
Line ID: @bkpn

วิธีเลือกซื้อโน้ต เลือกยังไงดีน้า

ฉันคิดว่าหัวข้อนี้น่าจะเป็นประโยชน์มากๆ นะคะ เพราะฉันมักเห็นนักเรียนเปียโนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว พอมีเงินทองซื้อหนังสือโน้ตเพลงที่อิมพอร์ตจากเมืองนอกเมืองนาได้ ก็อยากจะซื้อหาหรือเก็บสะสม(แม้หลายคนยังอาจจะเพิ่งเริ่มเรียน ก็ซื้อเก็บไว้ก่อนเผื่ออนาคตจะได้หยิบมาใช้บ้าง) ฉันว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดีนะคะที่จะซื้อโน้ตมาเก็บสะสมเอาไว้ (แหม~ ก็มันเท่ห์ดีออกที่จะมีโน้ตของนักประพันธ์ที่เราชอบ) แต่ทว่าพอเอาเข้าจริงๆ เมื่อได้หยิบหนังสือที่ตนซื้อหวังจะได้เรียนได้เล่นกลับพบว่า โน้ตที่ซื้อมาเขียนไม่ละเอียดบ้าง หรือว่าไม่ตรงตามเวอร์ชั่นออริจินัลดั่งเดิมบ้าง

ฉันก็เลยไปสืบเสาะมาให้ค่ะว่าเราควรจะเลือกโน้ตกันยังไงดีหนอ???

ประเภทของหนังสือโน้ตเพลงคลาสสิค

ประเภทแรกเขาเรียกกันว่า Urtext editions ค่ะ อ่านว่า เออเท็กซท์ (ออกเสียงซึทึ ตัว x และ t เพื่อความอินเตอร์ด้วยนะคะ) Urtext เป็นคำสนธิระหว่างภาษาเยอรมันกับภาษาอังกฤษ แปลว่าข้อความที่ได้รับมาจากแหล่งดั่งเดิม

โน้ตที่หน้าปกเขียนว่า Urtext editions นั่นก็คือโน้ตเวอร์ชั่นที่พยายามสุดฤทธิ์ในการคงความตั้งใจของนักประพันธ์ดั่งเดิมเอาไว้ให้ได้มากที่สุด โดยที่ไม่แต่งเสริมใดๆ ทั้งสิ้น

แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไรกันล่ะคะ ที่จะนำความตั้งใจของนักประพันธ์ม่องเท่งไปแล้วมาแปะไว้ในหนังสือได้ครบถ้วน???

โน้ต01

ผู้เรียบเรียงโน้ตเวอร์ชั่น Urtext editions จะใช้ข้อมูลหลายๆ ด้านค่ะ ได้แก่ ข้อมูลที่ผู้ประพันธ์เขียนด้วยลายมือของผู้ประพันธ์เอง ทั้งโน้ต หรือบางท่านได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเบื้องลึกเบื้องหลังในการแต่งเอาไว้ สิ่งเหล่านี้จะถูกเก็บรวบรวมมาเป็นข้อมูลทำโน้ตนะคะ สิ่งต่อมาที่ต้องใช้อ้างอิงคือ โน้ตที่นักเรียนเอกของนักประพันธ์หรือผู้ช่วยที่ใกล้ชิด คัดลอกมาอีกที ถ้าหากใครเคยดูหนังเรื่อง Copying Beethoven ก็คงนึกภาพตามได้ง่ายนะคะ ในเรื่องเราจะเห็นแม่สาวนาม "แอนนา โฮลทซ์" เธอเป็นสาวที่มีความรู้ด้านดนตรีสูงค่ะ (ตามรูปด้านข้างลุงข้างบนคือ "บีโธเฟ่น" และสาวข้างล่างคือ "แอนนา โฮลทซ์" ในเรื่อง) แอนนาต้องทนอ่านโน้ตลายมือไก่เขี่ยของลุงแก่ขี้โมโหอย่างบีโธเฟ่น เพื่อจะคัดลอกออกมาเป็นโน้ตลายมือสวยงามสำหรับนักดนตรีในวงออเครสต้าค่ะ เนื่องจากแอนนาเป็นสาวที่ค่อนข้างฉลาด บีโธเฟ่นจึงยอมรับในตัวเธอแม้เธอเป็นผู้หญิง (สมัยนั้นผู้หญิงก็โดนกดขี่ดูถูกต่างๆ นานาเสียด้วยซิ) ที่บีโธเฟ่นยอมรับในตัวเธอก็เพราะเธอแก้เพลงที่บีโธเฟ่นเขียนไว้แบบผิดๆ ถูกๆ อย่างเข้าหัวอกตาลุงขี้โมโห (เหมือนหนังจะบอกว่าสองคนนี้สื่อกันทางใจอย่างงั้นเลย) ย้อนกลับมาเรื่องของแหล่งข้อมูลที่ใช้อ้างอิงทำโน้ต Urtext editions กันต่อนะคะ สิ่งที่ผู้เรียบเรียงจะใช้อีกอย่างนึงก็คือ โน้ตที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรก และครั้งต่อๆ มาค่ะ

ฮั่นแน่!!! เรามีคำถามด้วย ... โน้ตที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเล่มเดียวก็น่าจะเกินพอแล้ว มีใครรู้บ้างว่าทำไมเราถึงต้องพึ่งโน้ตที่ตีพิมพ์ครั้งอื่นๆ ด้วยนะเนี่ย??? .... ติ๊ก ต๊อกๆ ๆ .... เฉลยนะคะ ... ที่เขาใช้โน้ตที่ตีพิมพ์ครั้งอื่นๆ ด้วยก็เพราะว่า โน้ตที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกอาจจะมีข้อผิดพลาดอยู่ เมื่อโน้ตได้รับการตีพิมพ์เป็นที่แน่นอนว่านักประพันธ์ก็ต้องเช็คผลงานของตนว่ามีพิมพ์ผิดตรงไหนบ้าง นั่นเป็นสาเหตุทำให้โน้ตที่ตีพิมพ์ครั้งต่อๆ มาที่ใกล้เคียงกันจะมีความแม่นยำถูกต้องมากกว่า

โน้ตเวอร์ชั่นแบบ Urtext นั้นค่อนข้างจะมีปัญหาในการตีพิมพ์ออกมาอยู่เหมือนกันนะ เพราะว่าทางผู้เรียบเรียงต้องค้นคว้าอย่างดี ไม่งั้นอาจจะทำให้ขาดประเด็นหลักที่นักประพันธ์ยุคก่อนๆ ต้องการจะสื่อสารในตัวบทเพลง แถมต้องเสนอทางเลือกในการเล่นโน้ตบางจุดที่ข้อมูลขาดหายให้กับนักดนตรีที่จะนำโน้ตไปใช้ การเสนอแนวทางถ้าเสนอแนวทางที่น้อยเกินไปก็เป็นทางเลือกให้นักดนตรีได้น้อย แล้วการเสนอแนวทางที่ไม่อ้างแหล่งข้อมูลดีๆ ก็ทำให้ผิดเพี้ยนจากความคิดของผู้ประพันธ์ได้ จึงลำบากอยู่เหมือนกันในการเรียบเรียง ทางออกของผู้เรียบเรียงหนังสือแบบ Urtext editions ก็คือการเสนอแนวทางการเล่นผ่าน Footnote และเขียนกำกับข้อมูลไว้เสมอว่าอ้างจากแหล่งใดหรืออ้างจากประโยคเพลงที่คล้ายๆ กันในห้องไหนค่ะ

ประเภทโน้ตเวอร์ชั่นอื่นๆ นอกจาก Urtext editions ก็ได้แก่ Facsimile editions (อ่านว่า ฟาสิมิลี่) เป็นเวอร์ชั่นที่ทำขึ้นมาใหม่จากโน้ตดั่งเดิมโดยไม่ผ่านการอ้างอิงจากแหล่งอื่นๆ นะคะ ถ้าเทียบกับแบบ Urtext editions ก็จะเห็นได้ว่า Urtext editions สร้างขึ้นมาจากแหล่งข้อมูลที่ได้รับการกลั่นกรองแล้ว แต่ Facsimile editions เป็นหนังสือโน้ตที่ได้จากแหล่งข้อมูลดิบค่ะ ที่น่าสนใจคือ Facsimile editions นั้น ผู้ใช้มักเป็นผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญทางดนตรีมากๆ แทนที่จะเป็นนักดนตรีโดยตรง เพราะนักดนตรีโดยตรงส่วนมากจะใช้ Urtext editions ที่กลั่นกรองข้อมูลแล้ว

หนังสืออีกประเภทเรียกว่า Interpretive editions ซึ่งแปลตรงตัวเลย คือเป็นโน้ตเวอร์ชั่นที่ใส่การตีความเพลงลงไปแล้วจากนักดนตรีที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือ หรือผู้เรียบเรียงที่ศึกษางานเพลงของผู้ประพันธ์เป็นอย่างดี Interpretive editions จะเต็มไปด้วยข้อมูลการตีความเพลงตามผู้ตีความ อย่างในโน้ตของเปียโนจะเห็นชัดในเรื่องของ Dynamic, Articulation, และ เลขนิ้ว ที่ถูกเขียนขึ้นมาใหม่ เมื่อเทียบโน้ตกับแบบ Urtext จะเห็นว่าโน้ตแบบ Interpretive จะแนะนำแนวทางการเล่นที่ต่างออกไป ในยุคปัจจุบันโน้ตแบบ Interpretive editions ค่อนข้างได้รับความนิยมอยู่เหมือนกันนะคะ เพราะเป็นแนวทางในการศึกษาการตีความเพลงสำหรับนักเรียนที่ต้องการเป็นศิลปิน หรือนักเรียนดนตรีมือใหม่ที่ยังไม่แม่นในยุคของดนตรีต่าง ๆ

โอ้ว~ เขียนมายาวพอดู คราวนี้มาของจริงกันบ้าง ...

แล้วเราจะเลือกซื้อหนังสืออย่างไรดีเล่า???

โน้ตเพลง02

หากต้องการหนังสือโน้ตที่มีความแม่นยำ และไม่เจือปนไอเดียของนักดนตรีหรือคนเรียบเรียงท่านอื่นๆ หรือหากอยากใช้โน้ตเพื่อการสอบเกรดและการแข่งขันต้องใช้โน้ตที่มีความน่าเชื่อถือสูง ก็ควรเลือกโน้ตที่หน้าปกเขียนคำว่า Urtext Editions นะคะ สำนักพิมพ์ที่ได้รับมอบให้ตีพิมพ์หนังสือรูปแบบ Urtext และมีความน่าเชื่อถือได้ ก็เช่น Barenreiter, G. Henle Verlag, Edition Peters, Wiener Urtext Edition ฯลฯ (รูปหน้าตาหนังสือแต่ละสำนักพิมพ์ต่างๆ ดูได้ด้านข้างค่ะ)

และถ้าจะให้เอ่ยว่าสำหนักพิมพ์ไหนที่ดูดีที่สุดคนพูดถึงกันเยอะก็ต้องบอกว่าเป็น G. Henle Verlag หรือที่ใครๆ ก็เรียกว่า "เฮนเล่ ๆ" นั่นเอง (ไม่ใช่ดาวหางนะยะ) เฮนเล่เป็นชื่อสำนักพิมพ์ทำโน้ตเยอรมันที่นักดนตรีชื่อดังนิยมใช้กัน แต่ว่าสนนราคาก็แพงใช่ย่อย (ก็แพงว่าสนพ.อื่นๆ เน้อ) ว่ากันว่าโน้ตของเฮนเล่ที่ตีพิมพ์ก่อนปี 2000 จะเป็นลายมือเขียนอย่างวิจิตร แต่ว่าหลังจากปี 2000 ก็เป็นโน้ตพิมพ์จากคอมพิวเตอร์ธรรมดานี่แหละจ้า

โน้ตในยุคเก่ามากอย่างบาโรคจะดังเดิมไม่มีไดนามิกเขียนให้เห็นค่ะ ในยุคบาโรคเปียโนโบราณอย่าง ฮาร์พซิคอร์ด คลาเวียคอร์ด อะไรพวกนี้ทำดังเบาไม่ค่อยได้เหมือนเปียโนปัจจุบันนะคะ หากเป็นนักเรียนเปียโนมือใหม่ไม่เคยเรียนเพลงยุคบาโรคเลย คุณครูส่วนใหญ่จะต้องแนะนำกันพอตัวเลยค่ะว่าต้องเน้นเสียงไหน ดังเบาอย่างไร (หรือบางคนอาจจะตีความเป็นว่าไม่ต้องทำดังเบา เล่นโน้ตได้ก็คือจบเพลงก็มีนะคะ) นักเรียนเปียโนมือใหม่เวลาเล่นเพลงยุคบาโรค อาจจะต้องการหนังสือที่มีไกด์ไลน์เขียนไว้ค่ะว่าแบ่งประโยคอย่างไร เล่นเน้นโน้ตตัวไหน นอกจากนี้ไม่ใช่แค่เพลงในยุคบาโรคเท่านั้น สำหรับนักเรียนเปียโนมือใหม่ หนังสืออย่างโซนาติน่าต่างๆ จะถูกเรียบเรียงแนะนำตีความเพลงไว้มากกว่าที่จะเป็นแบบ Urtext และก็ยังมีโน้ตประเภท Etude ที่ส่วนใหญ่นักดนตรีที่ชำนาญด้านเทคนิคจะสอดแทรกวิธีการเล่น สอนตีความ แบ่งประโยคเพลง และเขียนเลขนิ้วแนะนำให้ในตัวนะคะ หนังสืออย่าง Etude Chopin ถ้าผู้เล่นยังไม่เก่งพอหรือขี้เกียจตาลายอ่านโน้ตก็พยายามเลือก editions ที่แนะนำวิธีการเล่นเอาไว้ให้ก็ดีค่ะ

ฉันเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญมากค่ะ สิ่งที่เขียนมาได้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ในอินเตอร์เนท มีการถามหรือเคยพูดคุยกับผู้ที่มีประสบการณ์การซื้อโน้ตมาเล่น ต้องขอขอบคุณบุคคลหลายๆ ท่านที่ทำให้ฉันได้รับความรู้มากมายมา ณ ที่นี้ด้วย

อย่างไรก็ดีโน้ตเพลงไม่ใช่ราคาบาทสองบาท ถ้าหากต้องการจะซื้อเพื่อใช้งานจริงๆ ก็ควรปรึกษาคุณครูผู้สอนเป็นดีที่สุดค่ะ --- ดูจะเป็นคำแนะนำแบบโบ้ยๆ ให้คุณครูเสียมากกว่า อิๆ ---




บทความที่น่าสนใจ จาก "บ้านครูเปียโน"

พื้นฐานการอ่านโน้ตสากล