สวัสดีกันอีกครั้งนะคะ สัปดาห์นี้เราก็ยังคงต่อกันด้วยเรื่องของประวัติเปียโนเช่นเคย คราวที่แล้วทิ้งท้ายไว้ถึงเปียโนในยุคของโมสาร์ท ซึ่งเป็นเปียโนจากสำนักเวียนนีสเสียงใสๆ ที่ช่วยจรรโลงให้ศิลปินอย่างโมสาร์ทสร้างสรรค์เสียงเพลงอันน่ารักออกมา แต่เปียโนสำนักเวียนนีสเป็นเปียโนที่ไม่หนักแน่น เล่นออกกำลังวังชามากไม่ได้ อย่างนี้บีโธ่เฟ่นคงจะไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ซินะ
แล้วอย่างงี้เราจะทำยังไงกันดีล่ะ...
เปียโนในยุคคลาสสิคความจริงไม่ได้มีแต่เปียโนของสำนักเวียนนีสที่เปราะบาง แต่ยังมีเปียโนของสำนักอื่นๆ ที่คิดค้นประดิษฐ์จุดเด่นที่แตกต่างกันออกมาค่ะ และหนึ่งในนั้นคือเป็นโนของสำนัก Broadwood จากประเทศอังกฤษ (ซึ่งต่อมากลายเป็นบริษัท Broadwood & Son และยังผลิตเปียโนขายจนทุกวันนี้) John Broadwood ผู้ก่อตั้งรวมทั้งเพื่อนๆ ออกแบบเปียโนหน้าตาแข็งแรงทนทานได้เป็นหลังแรกเมื่อปี ค.ศ. 1777 นั่นคือการนำสายของเปียโนเข้าไปอยู่ในเคสแบบฮาร์พซิคอร์ดที่เป็นรูปแบบดั่งเดิมก่อนจะเป็นแกรนด์เปียโน ผลที่ตามมาก็คือ เปียโนจะมีเสียงดัง และกังวาลได้มากขึ้นค่ะ (หลังจากนั้นเขาก็พัฒนารูปแบบเคสที่ใส่สายอีกนะคะ ใช้วัสดุที่ดีขึ้น ใช้ไม้ที่หนาขึ้น ฯลฯ)
จุดเด่นยังไม่ได้มีแค่นั้นนะคะ เปียโนสำนักเวียนนีสและเปียโนสำนักอื่นๆ ในขณะนั้นมีช่วงกว้างเล่นได้แค่ 5 octave โดยประมาณ แต่สำนัก Broadwood เริ่มคิดและพัฒนาจนได้เปียโน 6 octave เปียโนช่วงกว้างขนาดนี้ลุงแก่ขี้โมโหคนนึงถูกอกถูกใจเอามากๆ เลยค่ะ ... เขาก็คือ Beethoven นั่นเอง จะเป็นใครไปไม่ได้ Beethoven เริ่มแต่งเพลงที่มีโน้ตเกินเปียโนแบบเก่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นะคะ และในประมาณปี 1820 ก็พัฒนาจนถึง 7 octave กันเลยทีเดียวค่ะ สำหรับรูปที่เห็นอยู่ เป็นเปียโนของ Braodwood ประมาณปี 1840 ซึ่งจะเห็นได้ว่าหน้าตาของเปียโนละม้ายคล้ายเปียโนสมัยนี้แล้วล่ะ
พอสำนักเวียนนีสเห็นแบบนี้แล้ว ก็เลยเริ่มผลิตเปียโนที่มีช่วงการเล่นได้กว้างเหมือนกันนะคะ เพียงแต่ว่าสำนักเวียนนีสก็ยังคงความอ่อนโยนเปราะบางของเปียโนเอาไว้ เหมือนเป็นสไตล์เอกลักษณ์ก็ว่าได้
เปียโนที่เล่นได้อย่างหนักหน่วงเป็นแรงบรรดาลใจมากกับ Beethoven นักประพันธ์เจ้าอารมณ์ แต่ทว่าความหนักหน่วงของมันไม่ได้ครึ่งของเปียโนปัจจุบันนี้เลยค่ะ น่าสงสาร Beethoven อยู่สักนิดที่เขาเกิดมาเร็วไปหน่อยนะคะ ปัจจุบันจึงมีนักดนตรี และนักตีความบทเพลงของ Beethoven ให้ความเห็นไว้มากมายเรื่องว่าควรเล่นให้เข้าถึงอารมณ์ของ Beethoven อย่างหนักหน่วงอย่างไรกับเปียโนในยุคนี้ ท่านเหล่านั้นคงต้องการจะบอกท่านผู้ฟังว่าหาก Beethoven เกิดมาในยุคพวกเรา เขาคงปล่อยอารมณ์สุดๆ แบบไม่ยั้งเหมือนกัน
ยุคสมัยเริ่มเปลี่ยน แนวเพลงเปลี่ยนไปจากคลาสสิคสู่โรแมนติก นักประพันธ์เพลงเริ่มใส่ความหมายความรู้สึกที่สลับซับซ้อนเข้าไปในเพลง เปียโนเองก็จึงจำเป็นต้องพัฒนาตอบสนองความต้องการของนักประพันธ์เหล่านั้นเพื่อผลงานชั้นเยี่ยมของโลก บริษัทผู้ผลิตเปียโนขึ้นมาตอบสนองตัวแม่ไม่ได้อยู่อังกฤษอีกต่อไป บริษัทคู่แข่งรายสำคัญจากปารีส ณ ฝรั่งเศส ตีตื้นคว้าหัวใจนักประพันธ์เอกของโลกอย่าง Chopin และ Liszt นั่นก็คือ บริษัทที่ชื่อว่า Pleyel และ Erard ค่ะ
สำหรับบริษัท Erard นำโดย Sebastien Erard ได้ผลิตคิดค้นกลไกการตอบสนองความไวของนิ้วผู้เล่นได้อย่างดีจนไม่น่าเชื่อ นี่เป็นนวัตกรรมใหม่สุดๆ ในยุคนั้นที่จะเล่นเปียโนพรมนิ้วรัวบนคีย์เดิมโดยที่คีย์นั้นไม่ต้องเด้งขึ้นมาจนสุด Sebastien Erard เสนอเปียโนให้แก่ Liszt และชนะใจ Liszt จนเขาต้องประพันธ์แต่งเพลงเทคนิคแพรวพราวเล่นรัวสบัดกันหลุดโลกเพื่อเล่นบนเปียโนแบบใหม่ของ Erard ที่ตอบสนองความเร็วตรงนี้ได้ (บริษัท Erard นี่เองที่เป็นต้นกำเนิด action การตอบสนองของแกรนด์เปียโนในปัจจุบัน)
เปียโนตั้งแต่ยุคปีค.ศ. 1820 ไปจวบจน 1850 โดยประมาณได้รับการพัฒนารวดเร็วและต่อเนื่อง จุดเปลี่ยนที่เห็นได้ชัดและยังคงใช้กันจนปัจจุบันก็ คือ เทคนิคที่ติดแผ่นเหล็กหนาลงไปบนไม้ซาวด์บอร์ดเพื่อขึงสายเปียโนที่มีน้ำหนักมากได้ (ซาวด์บอร์ดนั้นก็คือส่วนไม้ด้านหลังของเปียโนแบบอัพไรท์ และไม้รองพื้นใต้เปียโนในแกรนด์เปียโน) เมื่อรับน้ำหนักได้มาก สายเปียโนจึงถูกเปลี่ยนเป็นที่สายใหญ่ขึ้น ยาวขึ้น มีน้ำหนักมากขึ้น ส่งผลต่อเสียงที่ดีขึ้นนะคะ
ไม่ใช่แค่สายที่ถูกเปลี่ยนใช้วัสดุที่ดีขึ้น หัวค้อนเองก็ดีขึ้นเช่นกัน จำบทความตอนที่แล้วกันได้หรือเปล่าเอ่ย??? หัวค้อนเปียโนโบราณเขาทำจากอะไรหนอ??? ... จำไม่ได้ก็จะบอกให้นะคะ เปียโนสมัยก่อนจะใช้หนังหนาๆ หุ้มหัวค้อนค่ะ แต่ว่ามีหนุ่มหัวใสนาม Henri Pape เขาเป็นลูกจ้างสังกัดในบริษัท Pleyel บริษัทเปียโนที่ Chopin ติดหนึบ เขาเป็นคนคิดหัวค้อนแบบใหม่ขึ้นมาค่ะ และก็ใช้ถึงทุกวันนี้ด้วย นั่นก็คือการใช้ขนแกะ (หรือผ้าและขนสัตว์อย่างอื่นๆ ) อัดเป็นรูปหัวค้อน
Henri Pape บุคคลคนเดียวกันนี้ยังคิดค้นในการเปลี่ยนวิธีจัดเรียงสายภายในเปียโนเสียใหม่ จากแต่ก่อนเปียโนจะเรียงสายตรงๆ กันตามปกตินะคะ และ Henri Pape กลับคิดวิธีการไขว้สายเปียโนค่ะ เราเรียกวิธีวางสายเปียโนแบบนี้ว่า Crossed-String จากรูปจะเห็นเปียโนเปลือยๆ สังเกตกันไหมเอ่ย ข้างในใต้ฐานของคีย์บอร์ด มีสายไขว้กันนะคะ จะเห็นว่าสายอ้วนๆ สายใหญ่ที่จริงๆ เป็นสายของเบสนั้น จะถูกขึงทางข้างขวาล่างไขว้ไปซ้ายบน วิธีนี้เท่ห์มากเลยค่ะ เพราะเราสามารถจะมีเปียโนเสียงดีๆ ได้ภายใต้พื้นที่ที่จำกัด สายที่สามารถยาวได้มากกว่าปกติเพิ่มการสั่นสะเทือนและกังวาลได้มากกว่านะคะ อย่างไรก็ดีตอนที่ Henri Pape คิดค้นเปียโนแบบนี้ออกมาใหม่ๆ ก็มีเสียงไม่เห็นด้วยนะ บอกว่าเปียโนแบบนี้ทำให้เสียงเบสตีกันยุ่งกับเสียงเมโลดี้ สู้เปียโนที่สายตรงๆ ไม่ได้เพราะจะทำให้เสียงในช่วงเสียงที่แตกต่างกันฟังออกมาชัดเจนกว่า แต่ถึงมีเสียงบ่นบ้างก็ตาม เปียโนส่วนใหญ่สมัยนี้เขาก็ไขว้สายกันทั้งนั้นแหละนะ
เล่ามาถึงตรงนี้ เปียโนตอนนี้ก็เกือบๆ หรูแล้วนะคะ แต่ยังค่ะ เพราะว่าถ้าเทียบกันจริงๆ เปียโนหรูๆ ที่ Chopin ใช้ สู้ตอนนี้ไม่ได้เลยเช่นเดิม ความกังวาลและชัดเจนของมันยังไม่แน่นเท่าปัจจุบันนี้ค่ะ ลองเข้าไปในเวปวิกิพีเดีย search หาคำว่า Piano (http://en.wikipedia.org/wiki/Piano) จะมีเดโมให้ฟังนะคะว่าเปียโนของบริษัท Erard ปี 1851 กับเปียโนแบบปัจจุบันจริงๆ มันต่างกันอย่างไรค่ะ ฟังแล้วจะแบบว่าสงสาร Chopin อีกเหมือนกัน ทำไมเกิดเร็วไปนิดเนี่ย
จะเห็นได้ว่าหลังการพัฒนาอุตสาหกรรมบริษัททำเปียโนก็ผุดกันขึ้นมา ต่างก็พยายามพัฒนาศักยภาพของเครื่องดนตรีของตน เลยเป็นช่วงที่เปียโนพัฒนาพุ่งพรวดได้เสียงที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่แน่นอนที่เรื่องราวของเราไม่ได้จบเพียงแค่นี้ ในเมื่อบริษัทต่างๆ เริ่มทำเปียโนพร้อมทั้งคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ คราวหน้าเรามาดูกันดีกว่านะคะว่า กว่าจะเป็นเปียโนอย่างที่เราเห็นๆ กันนั้นมีนวัตกรรมใหม่ๆ อะไรเพิ่มมาบ้าง และบริษัททำเปียโนที่ไหนที่เป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมนั้นๆ
อย่าลืมติดตามอ่านตอนต่อไปกันนะจ๊ะ
<<< ตอนก่อนหน้า | ตอนต่อไป >>> |