เพิ่มเพื่อน
Line ID: @bkpn

สามยุคสำคัญของประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตก (ตอนที่ 2) : Classic

คราวที่แล้วเรากล่าวถึงยุค Baroque กันไปเป็นที่เรียบร้อยนะคะ ย้อนความเสียหน่อยกันลืมแบบสรุปรวมคือในยุค Baroque ใช้สไตล์ประสานที่เรียกว่า Polyphony และหลังๆ เริ่มมีการใช้สไตล์แบบ Homophony อย่างที่ได้อธิบายไปนะคะ นอกจากนี้ที่เด่นๆ คือความสลับซับซ้อนของแนวประสานที่มาถูกสอดรวมกัน หากว่าเราได้ลองฟังจะรู้สึกว่าแนวประสานหลายแนวมารวมกันได้มันช่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง

และ Baroque เป็นก็เช่นนั้น คือยังคงมีความซับซ้อนในตัวเพลงอยู่ไม่น้อย

ว่าแต่หมดเรื่อง Baroque ไปแล้ว ... หลังจากนี้เราจะพูดถึงยุคอะไรกันนะ??? ติ๊กต่อกๆๆ ... ยุคต่อมาที่เราจะกล่าวถึงคือยุค Classic นั่นเอง ยุค Classic มาหลัง Baroque ค่ะ

แต่ก่อนที่จะพูดถึงยุค Classic ทางดนตรี ฉันอยากจะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า Classic กันเสียหน่อย เพราะเป็นคำที่ค่อนข้างใหญ่ และคนก็ใช้ผิดกันอยากสับสนในบางที มีคำสามคำที่ควรจะแยกแยะออกจากกันให้ได้ก่อนนั่นก็คือคำว่า เพลงคลาสสิค, ยุคคลาสสิค และสุดท้ายคือเพลงในยุคคลาสสิค

"เพลงคลาสสิค", "ยุคคลาสสิค" และ "เพลงในยุคคลาสสิค"

ถ้ามีคนนึงบอกกับคุณว่า "ชอบฟังเพลงคลาสสิค" คุณจะนึกถึงเพลงอะไรกันบ้าง??? นึกภาพยังไง ได้ยินเสียงอะไรในหัว??? และตกลงเพลงที่คนผู้นั้นชอบเป็นอย่างไรกันแน่ ฉันเคยได้ยินหลายคนกล่าวว่าเพลงคลาสสิคก็คือเพลงบรรเลง ไม่มีเนื้อร้อง อะไรทำนองนี้ มันใช่อย่างงั้นจริงๆ หรือเปล่านะ... ซึ่งคำตอบ คือมันก็ไม่ใช้เสียทีเดียวแต่ก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง

"เพลงคลาสสิค" จริงๆ ให้อธิบายก็คงจะยาก ถามคำจำกัดความค่อนข้างเอาแน่เอานอนไม่ได้ คำว่าเพลงคลาสสิคมักถูกเรียกให้หมายถึงเพลงเก่าๆ ตามประวัติศาสตร์ตะวันตกที่แต่งอย่างมีแบบแผนและตามค่านิยมในเวลานั้น เพลงคลาสสิคเลยอาจจะหมายรวมถึงเพลงตั้งแต่ยุคกลางที่อาณาจักรโรมันล่มสลาย เก่าสมัย ค.ศ. 500 กว่าๆ จนมาถึงปัจจุบัน (และถ้าถามว่างั้นปัจจุบันมันจะเป็นเพลงเก่ายังไง คงต้องบอกว่าเพลงปัจจุบันอีกไม่นานก็จะเป็นอดีตของเพลงในอนาคตไป) เพลงคลาสสิคไม่ได้หมายถึงเพลงที่บรรเลงอย่างเดียว เพลงร้องโอเปร่า ร้องประสานเสียง นี้ก็มีเสียงร้องค่ะ เพลงคลาสสิคก็เลยครอบคลุมเพลงหลายแนวหลายยุคเป็นวงกว้างอยู่เหมือนกัน อีกความหมายที่อยากจะเสริม "เพลงคลาสสิค" คือ เพลงที่มีคุณค่าและยังคงอยู่ได้ ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไป ในบริบทแบบนี้อาจจะไม่ได้ถูกใช้ว่าจำต้องเป็นเพลงที่มาจากประวัติศาสตร์ตะวันตก เพลงป๋าเบิร์ด ธงไชย ก็คลาสสิคได้พอๆ กับเพลงของบีโธเฟ่น หากกาลเวลาเริ่มร่วงเลยไปและยังมีผู้คนนิยมอยู่ มันยังไม่ตายหรือหายไปไหน นี่แปลว่าความคลาสสิคนั้นต้องใช้ค่านิยมบวกความทรงจำเป็นตัวตัดสินเสียมากกว่าคำนิยามว่าอะไรควรจะถูกเรียกว่าคลาสสิค

ต่อมาก็คำว่า "ยุคคลาสสิค" ... เนื่องจากอะไรที่มันคลาสสิคเราจะรู้สึกว่ามันเก่าแต่เก๋า แต่พอเติมคำว่า "ยุค" คลาสสิค มันกลับให้ความรู้สึกเก่าอย่างเดียว ไม่เก๋าเลยสักนิด "ยุคคลาสสิค" ใช้เรียกยุคโบราณสมัยกรีกโรมัน ยุคที่เขานับถือเทพเจ้าและมีเรื่องราวเทพเจ้าต่างๆ ที่สนุกอย่างกับนิทานก่อนนอน นึกภาพยุคคลาสสิคอาจจะนึกไปถึงจูเลียส ซีซ่าร์, ม้าไม้กรุงโรม, รูปปั้นเทพเจ้าโป๊ๆ มีแค่ใบไม้ปิด, แท่งเสาแบบกรีก ฯลฯ ยุคคลาสสิคนั้นจะพูดถึงยุคโบราณ เป็นยุคที่เก่าแก่กว่าจะมี "เพลงในยุคคลาสสิค" ค่ะ

อ้าว ... "เพลงยุคคลาสสิค" ไม่ได้อยู่ใน "ยุคคลาสสิค" หรอกรึ

คำว่า "ยุคคลาสสิค" อย่างที่กล่าวไปว่ามักจะใช้พูดถึงยุคที่กรีกโรมันรุ่งเรืองค่ะ หลังจากกรีกโรมันล่มสลาย แต่ความเป็นกรีกความเป็นโรมัน กลิ่นอายของมันยังได้รับสืบต่อกันอย่างจางๆ แม้ยุคคลาสสิคจะผ่านพ้นแต่ผู้คนก็ยังคงรักมันและก่อกำเนิดยุคที่เรียกว่า "นีโอคลาสสิค" ขึ้น หรือยุคคลาสสิคใหม่นั่นเอง เจ้ายุคนีโอคลาสสิคนี้เป็นการเรียกยุคทางศิลปะที่พยายามจะเลียนๆ ลอกๆ ความเก่าความคลังของยุคคลาสสิคดั่งเดิม ยุคนีโอคลาสสิคทางศิลปะนั้นจะกินเวลาคาบเกี่ยวกับ ยุคบาโรคทางดนตรี ไปจนถึงยุคคลาสสิคทางดนตรี

เพราะฉะนั้นคำว่า "เพลงยุคคลาสสิค" จึงไม่ใช่เพลงที่อยู่ในยุคคลาสสิคที่กรีกโรมันกำลังรุ่งเรื่อง แต่หมายถึงเพลงในยุคนีโอคลาสสิคทางศิลปะค่ะ

ต่อไปเราจะมาดูลักษณะดนตรีในยุค Classic กันนะคะ!!!

เกริ่นมาซ่ะนานแสนนานเพิ่งจะเข้าเรื่องหลัก... เพลงยุค Classic นั้นต่อจากยุค Baroque ค่ะ ช่วงเวลาของมันคือประมาณปี ค.ศ. 1730-1820 อาจจะคาบเกี่ยวกับยุคบาโรคนิดหน่อย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะในปลายยุคบาโรคเริ่มใช้แนวการประสานแบบ Homophony ซึ่งเจ้า Homophony นี่แหละที่เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนให้เข้าสู่ยุค Classic เหมือนกันนะ ในยุคคลาสสิคการแต่งเพลงประเภท Polyphony จะถูกมองข้ามไปอย่างสิ้นเชิง Homophony เข้ามามีบทบาทมากๆ Homophony ในแนวของยุคคลาสสิคคือสไตล์เน้นเสียงเมโลดี้ประกอบกับเสียงคอร์ด(หรือเสียงประสาน)เป็นพื้นหลัง

ความแตกต่างระหว่าง Baroque กับ Classic คือ เพลงในยุค Classic จะมีการเล่นที่ได้ยินประโยคเพลงชัดเจน และด้วยเสียงเมโลดี้ที่เด่นขึ้น พร้อมทั้งตัดความซับซ้อนสับสนอย่าง Baroque ที่ถูกแต่งขึ้นด้วยเทคนิค Counterpoint กลับกลายเป็นการแต่งเพลงโดยอิงเรื่องของการเดินคอร์ดเข้ามา ทำให้ฟังง่ายและติดหูผู้คนมาก เครื่องดนตรีในยุค Classic ก็ได้รับการพัฒนามากค่ะ มีเครื่องดนตรีหลายๆ อย่างเกิดขึ้นและแทนที่เครื่องดนตรีอื่นๆ ที่เคยนิยมในสมัยบาโรค เช่น เครื่องสายอย่างไวโอลินสามารถเล่นได้อย่างนุ่มนวลมากขึ้นเมื่อเทียบกับไวโอลินในสมัย Baroque เพลงที่แต่งออกมาให้กับไวโอลินในยุคคลาสสิคจะไม่ฟังแข็งกระด้าง บาดเฉี่ยว แต่จะสดใส อ่อนนุ่มได้มากขึ้น หรืออย่างฮาร์พซิคอร์ดที่เคยนิยมก็ไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไปในยุค Classic หากต้องการเล่นโซโล่ล่ะก็ เปียโนเท่านั้นที่ตอบสนองความต้องการได้ ยุคคลาสสิคมีความหลากหลายของเพลงมากขึ้น มีการเล่นดังขึ้น เบาลง การเน้นโน้ต หรือเน้นประโยคเพลง การทำไดนามิกที่เพิ่มความติดหูให้กับผู้ฟังต่างออกไปจากการเล่นเนิบๆ อย่างยุค Baroque ที่เคยกระทำ

Alberti Bass

ในยุคคลาสสิคช่วงต้นๆ ไปจนกลางๆ มักนิยมรูปแบบแพทเทิร์นคอร์ดที่เรียกว่า Alberti เป็นรูปแบบการแตกคอร์ดง่ายๆ สลับโน้ตกันให้ฟังดูเบาๆ เช่นคอร์ด C Major ก็จะถูกเล่นเป็น โด ซอล มี ซอล โด ซอล มี ซอล ต่อกันไป (ตามรูปจะเห็นตัวโน้ตในกุญแจฟาเรียง โด ซอล มี ซอล นั่นล่ะ Alberti) Alberti bass หรือการเดินคอร์ดแบบ Alberti ชื่อ Alberti นั้นมาจากนายคนนึงนาม Domenico Alberti เขาไม่ใช้คนคิดค้นหรือคนที่ใช้รูปแบบ Alberti bass เป็นคนแรกหรอกค่ะ เพียงแค่เขาเป็นคนแรกๆ ที่ใช้มันบ่อยมากจนคนเลยเรียกว่า Alberti bass ไปซ่ะอย่างงั้น สำหรับใครยังนึกภาพเสียงของ Alberti bass ไม่ออกก็แนะนำ Piano Sonata in C K545 Movement 1 ของคุณพี่ Mozart นะคะ เปิดเพลงมาปุ๊ปนั่นแหละ Alberti bass (เสียง Background นะคะ ไม่ใช่เสียงเมโลดี้) Alberti bass นิยมมากในยุคคลาสสิคค่ะ แต่ว่าอย่างไรก็ดี แพทเทิร์นเช่นนี้ก็มีหลุดๆ ออกไปถึงยุคโรแมนติกบ้างเหมือนกันนะคะ

ยุค Classic การรวมวงอลังการงานสร้างมากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ เพลงซิมโฟนี่หรือพวกคอนเซอร์โต้ถูกประพันธ์ขึ้นเพื่อเครื่องดนตรีเป็นร้อยชิ้น แทนที่วงเล็กๆ นี่เรียกว่าจุดเด่นของยุค Classic อีกจุดนึงก็ได้นะคะ ใครที่เป็นนักประพันธ์ยุคนี้ก็ต้องแต่งซิมโฟนี่เพื่อโชว์ความสามารถทางด้านดนตรีกัน นอกจากนี้เครื่องดนตรีที่หลากหลายขึ้นก็ก่อให้เกิดแบบแผนการเล่นต่างๆ กันมากมาย ผู้ประพันธ์จับคู่เครื่องโน้นกับเครื่องนี้ ประพันธ์วงสำหรับเครื่องโน่นนั่นนี่แตกต่างกันออกไปอีก

ยุคคลาสสิคตอนต้นถึงตอนกลางเน้นเรื่องระเบียบแบบแผนอยู่มากค่ะ โน้ตที่อยู่นอกกฏการแต่งเพลงมักจะต้องทำเนียนๆ แอบๆ เข้ามาในรูปของโน้ตประดับที่เรียกว่า ornament เช่นพวก trill, turn, mordent เป็นต้น แต่ทว่าพอเข้าสู่ยุคคลาสสิคตอนปลายมีใครบางคนถือกำเนิดขึ้นค่ะ ลุงแก่ขี้โมโหนามบีโธเฟ่นนั่นเอง ลุงท่านนี้เป็นเหมือนบุคคลที่ "คิดนอกกรอบ" เพลงบางเพลงที่แต่งนอกกฏเกณฑ์ของเขามันก็โด่งดังมากนะคะ แต่สำหรับบางเพลงเมื่อเล่นให้ใครฟังคนสมัยก่อนก็ดูท่าว่าจะรับกันไม่ได้ เพราะมันแนวเกินไป อย่างไรก็ดีเพราะเขายังคงมั่นใจอยู่อย่างนั้นที่จะเป็นตัวของตัวเองตลอดเวลา จึงทำให้เพลงปลายยุคคลาสสิคมีชีวิต มีอารมณ์มากขึ้น จนกลายเปลี่ยนเป็นยุคโรแมนติกไปได้ในที่สุดค่ะ

นักประพันธ์เด่นๆ และเพลงดังๆ ของยุค Classic

3 ปรามาจารย์ ยุคคลาสสิค

3 ปรามาจารย์!!! ที่ควรจะกล่าวถึงเมื่อพูดถึงยุคคลาสสิค นั่นก็คือ Haydn, Mozart, และ Beethoven ค่ะ

Joseph Haydn นักประพันธ์ชาวออสเตรีย เขาเกิดประมาณปลายยุค Baroque ซึ่งตอนนั้นฟอร์มของโซนาต้ายังเป็นแบบ Baroque คือไม่มีแบบแผนแน่ชัด และมีแค่มูฟเม้นท์เดียว อย่างโซนาต้าของ Scarlatti เจ้าพ่อโซนาต้า 555 เบอร์นั่น Haydn ปฏิวัติรูปแบบของโซนาต้า จนมีฟอร์มเป็นแบบเฉพาะของยุคคลาสสิค โซนาต้าที่บรรจุมูฟเม้นท์ 3 ท่อน นิยมเล่น เร็ว - ช้า - เร็ว สลับท่อนกันเพื่อเป็นสีสรรให้กับผู้ฟัง นอกจากนี้ Haydn ยังถือว่าเป็น บิดาแห่งซิมโฟนี่ และ บิดาแห่งวงเครื่องสาย เพราะเขาเป็นคนพัฒนาเพลงประเภทนั้นๆ ขึ้นมาให้เป็นแบบฉบับของยุคคลาสสิค เพลงดังของเขาหนีไม่พ้น Symphony in G No94 หรือที่เรียกในชื่อของ "Surprise" Symphony เพลงสนุกๆ ขำๆ ที่พอเงียบๆ ก็ดังขึ้นกระแทกจนทำให้เราตกกะใจ และอดหัวเราะตัวเองไม่ได้

Amadius Mozart คนนี้ดังและใครๆ ก็รู้จักเขา ด้วยการประพันธ์ที่มีแนวเฉพาะตัว สดใสและร่าเริง Mozart เป็นอัจริยะตั้งแต่เด็ก เขาแต่งซิมโฟนี่ผลงานแรกของเขาเมื่อตอนอายุสัก 7-8 ขวบเท่านั้น ผลงานของเขามีดังๆ อยู่มากมาย ที่ติดหูคงจะหนีไม่ผลพ้นงานประพันธ์โอเปร่าเรื่อง The Marriage of Figaro และ The Magic Flute เขาเป็นนักประพันธ์คนแรกที่ปฏิวัติงานประพันธ์โอเปร่าจากที่ต้องใช้ภาษาอิตาเลี่ยน (ซึ่งชนชั้นล่างผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาในออสเตรียจะฟังไม่ออก) เปลี่ยนมาใช้ภาษาเยอรมันเพื่อทำให้คนฟังง่ายและเข้าใจเนื้อเรื่อง การกระทำเช่นนี้ถือว่าต้องใช้ความกล้ามากในสมัยก่อนเพราะภาษาอิตาเลี่ยนถือเป็นภาษาของชนชั้นสูง เป็นภาษาที่คริสตจักรใช้ (ศูนย์กลางของศาสนาอยู่ที่อิตาลี่) และยังเป็นภาษาที่เหมาะกับงานทางด้านศิลปะมากกว่าภาษาเยอรมันที่ใครๆ ใช้งานพูดคุยปกติในชีวิตประจำวัน และนอกจากงานประพันธ์โอเปร่าแล้ว Mozart ยังประพันธ์ Sonata สำหรับเครื่องดนตรีต่างๆ ไว้หลากหลาย ที่แต่งไว้เยอะก็เห็นจะเป็น Sonata สำหรับเปียโน Piano Sonata เบอร์ที่ติดหูที่สุดหนีไม่พ้น Piano Sonata in C K545 ที่เขาแต่งไว้เป็นแบบฝึกหัดให้สำหรับเด็กที่เพิ่งเริ่มต้นเล่นเปียโน

สุดท้ายคือ Ludwig van Beethoven นักประพันธ์ชาวเยอรมัน ที่บั่นปลายหูหนวกจนใครพูดอะไรก็ไม่ได้ยิน เขาเป็นลุงที่คิดนอกกรอบมากที่สุดจนทำให้เกิดยุคต่อจากคลาสสิค นั่นก็คือยุคโรแมนติกที่เพลงเริ่มสื่อถึงอารมณ์และมีความหมาย กล่าวกันว่าผลงานของ Mozart มีแรงจูงใจให้ Beethoven อยู่มาก ทั้งคู่เคยพบกัน ขณะที่ Beethoven กำลังเล่นเปียโนอยู่ในโบสถ์ Mozart ได้เข้ามาตบไหล่ทักทายพร้อมทั้งเอ่ยว่า "ไอ้หนุ่มนี่อนาคตรุ่งแน่ๆ" และแล้ว Beethoven ก็รุ่งจริงๆ ผลงานของเขาโด่งดังเอามาก เพลงที่ดังสุดๆ ของเขา ก็คงหนีไม่พ้น Symphony No5 in C Major ที่ใครๆ ก็คงรู้จัก Beethoven เขียน Symphony ไว้แค่ 9 เบอร์ ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับ Symphony ของท่านอื่นๆ แต่ด้วยว่าเขาใช้เวลานานกับ Symphony แต่ละเบอร์ โดยเฉพาะเบอร์สุดท้าย Symphony No9 in Dminor ซึ่งขณะนั้นหูของเขาอยู่ในขั้นวิกฤตเต็มที่ เลยทำให้การแต่งใช้เวลานานกินเวลา 7-8 ปีได้

สุดท้ายมีรูปน่ารักๆ มาฝากกันค่ะ ... ในหนังสือของสำนักพิมพ์ Alfred ชุด Music for Little Mozarts สำหรับเด็กเล็กนั้น จะมีตุ๊กตาไว้เล่นประกอบหนังสือด้วยนะคะ ตุ๊กตาเหล่านี้ก็จะมีชื่อและมีบุคคลิกที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ Prof. Hippo Haydn ผู้ฉลาดหลักแหลมในเรื่องทฤษฎี, Mozart Mouse รักเสียงเพลงเบาๆ สบายหู, และ Beethoven Bear หมีน้อยที่รักเพลงดังๆ แรงๆ เพื่อความสะใจ น่ารักกันดีทีเดียว

คราวหน้ามาพบกับยุคสุดท้ายที่เราจะพูดถึงนะคะ นั่นก็คือยุคโรแมนติกค่ะ อย่าลืมติดตามอ่านกันด้วยเน้อ~

<<< ตอนก่อนหน้า ตอนต่อไป >>>




บทความที่น่าสนใจ จาก "บ้านครูเปียโน"

พื้นฐานการอ่านโน้ตสากล