เพิ่มเพื่อน
Line ID: @bkpn

ประวัติย่อๆ ของนักเปียโน : Vladimir Horowitz

เริ่มเดิมทีก็อยากจะเขียนเรื่องประวัตินักเปียโนดังๆ มาก่อนหน้านี้แล้วค่ะ แต่ว่าฉันเองก็ไม่ค่อยมีความรู้มากมายนัก ประกอบกับบทความก่อนหน้าออกมาเป็นซีรี่ย์เสียเยอะ ทั้งเรื่องประวัติเปียโนและเรื่องยุคของดนตรีคลาสสิค จึงทำให้ไม่ได้ฤกษ์เขียนถึงนักเปียโนท่านไหนๆ หรือนักประพันธ์ในประวัติศาสตร์ดังๆ เลยแม้แต่คนเดียว ทั้งๆ ที่เรื่องพวกนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย หลังจากนี้ฉันจะพยายามหาเนื้อหาสลับๆ กับเกี่ยวกับนักเปียโนหรือนักประพันธ์มาให้อ่านกันนะ

บทความครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการเริ่มสำหรับเรื่องของนักเปียโนชื่อดัง ฉันคิดอยู่นานว่าจะเป็นใครค่ะ (คิดนานจนบทความออกช้าเลยนิ ~ ไม่ใช่ล่ะ) สุดท้ายฉันก็เลือก Horowitz ค่ะ เพราะเขาเป็นคุณปู่นักเปียโนที่โดดเด่นคนนึงของโลก สไตล์ในการเล่นเปียโนของเขาก็เด่นออกมา เรื่องของสีสันของเพลง เสียงที่เข้มข้น และเรื่องของอารมณ์เพลงหนักๆ ของเขา

ประวัติของ Vladimir Horowitz

Vladimir Horowitz

Horowitz เป็นนักเปียโนชาวรัสเซีย (ดูภาพหน้าตาของเขาได้ในรูป) เขาเกิดเมื่อ 1 ตุลาคม 1903 ณ Kiev ที่รัสเซีย (แต่ตอนนี้พื้นที่ที่เขาเกิดถูกเปลี่ยนเป็นยูเครนแล้ว) ครอบครัวของเขาเป็นชาวยิว แม่ของ Horowitz เป็นนักเปียโน เขาก็เลยได้รับการสอนจากคุณแม่ของเขาตั้งแต่ยังเล็ก Horowitz ฉายแววมากตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยดนตรีที่ Kiev Conservatory ตอนจบปี 4 เขาจึงได้เล่น Piano Concerto in D minor ส่วน recital แรกของเขานั้นแสดงหลังจากหนึ่งปีที่จบการศึกษา และทำให้เขาดังขึ้นๆ เรื่อยๆ ถึงแม้จะดัง และถูกเชิญให้ไปแสดงตามที่ต่างๆ ทั่วรัสเซีย แต่ค่าตอบแทนไม่ได้เป็นตัวเงิน กลับกันนั้นเขาได้รับค่าจ้างเป็นแค่ขนมปัง เนย ช๊อกโกแลต ของกิน (ที่สมัยนั้นถือว่าก็เป็นอาหารหรูแล้ว) เนื่องจากในประมาณ 1922-1923 เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะย่ำแย่ เขาก็จุนเจือครอบครัวด้วยการเป็นนักเปียโน และนักแต่งเพลงนี่แหละคะ จนกระทั้งวันนึงเขาตัดสินใจที่จะเดินทางไปร่ำเรียนต่อที่ยุโรปกับ Artur Schnabel ด้วยความมุ่งมั่นว่าจะไม่มีวันหวนสู่บ้านเกิดอีก

ปี 1926 เขาเปิดการทัวร์ยุโรปเป็นครั้งแรกแต่นั่นคงยังไม่ดังเท่าการเปิดตัวครั้งแรกที่อเมริกาปี 1928 ณ Carnegie Hall ด้วยเพลง Piano Concerto No1 ของ Tchaikovsky ขณะนั้นผู้คอนดักต์ก็เพิ่งมาเปิดตัวคอนดักต์ครั้งแรกเช่นกัน เขาคือ Sir Thomas Beechan คอนดักเตอร์งานนี้จำเพลงเอาล้วนๆ ไม่ได้คอนดักต์จากโน้ตเพลง และเข้าขาได้ดีกับ Horowitz เป็นการเปิดตัวที่ยอดเยี่ยม จนได้รับการยกย่องจาก New York Times ถึงความเข้ากันของทั้งคู่ และเสียงเปียโนที่เหมือน "Tornado unleashed from the steppes" ของ Horowitz หลังจากนั้น Horowitz ได้ออกคอนเสิร์ตกับคอนดักเตอร์ Arturo Toscanini (ในรูปด่านล่างใต้คลิปยูทูป) ในปี 1933 ด้วยเพลงของ Beethoven อย่าง Piano Concerto No5, The Emperor จากคอนเสิร์ตครั้งนี้ทำให้เขาได้พบกับคู่ที่ถูกใจ เขาออกคอนเสิร์ตหลายครั้งกับคอนดักเตอร์ท่านนี้หลายครั้งหลายครา

คลิปในยูทูปหาการเปิดตัวแรกๆ ของ Horowitz ยากมากค่ะ ... เก่ามากๆ และเป็นเพลงเด่นๆ ของทั้ง Horowitz และ Toscanini ที่เล่นร่วมกัน เจอแต่เป็นของปี 1943 เป็นการบรรเลง Tchaikovsky Piano Concerto No1 ร่วมกันค่ะ ตามคลิปด้านล่างนี่เลย

การได้เจอกับ Toscanini ทำให้เขาได้เจอกับ Wanda ลูกสาวของคอนดักเตอร์ ที่เขามักจะออกคอนเสิร์ตด้วยเสมอ Horowitz แต่งงานกับ Wanda ในปี 1933 Horowitz เองรู้ภาษาอิตาเลี่ยนนิดหน่อย ในขณะที่ Wanda ไม่รู้ภาษารัสเซียเลย ทั้งคู่จึงใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสาร Wanda เป็นคนอิตาเลี่ยนที่ต้องถือคาทอลิกเป็นธรรมดา แต่น่าแปลกที่เรื่องระหว่างความเป็นยิวของ Horowitz ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญอะไรเลยแม้แต่น้อย ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกันคนนึง แต่ลูกสาวนั้นเสียชีวิตลง ทั้งที่จนปัจจุบันนี้ก็ยังหาสาเหตุการตายไม่ได้

Arturo Toscanini

มีคนกล่าวว่า Horowitz เป็น Homosexual หนึ่งในผู้ที่เอ่ยคือ Arthur Rubinstien นักเปียโนชาวโปแลนด์ชื่อดังของโลกอีกคน แต่ไม่มีใครมีหลักฐานแท้จริงว่าเขาเป็น Homosexual หรือไม่ มีแต่บุคคลที่ใกล้ชิด สังเกตแต่พฤติกรรมเกี่ยวกับความหมกหมุ่นหงุดหงิดทางเรื่องเพศของ Horowitz หรือเรื่องการส่งต่ออารมณ์ผ่านบทเพลงที่ทรงพลังมากเรื่องการแสดงออกอารมณ์ทางเพศ แต่แล้วในปี 1940 Horowitz เริ่มไปหาจิตแพทย์ด้วยความรู้สึกผิดเปลี่ยนทางเพศของตน และเริ่มต้องรับการรักษาด้วยการช๊อคไฟฟ้า

ในปี 1982 เป็นปีที่ย่ำแย่ของเขา Horowitz ตัดสินใจใช้ยากดประสาทในการรักษา และเขาเริ่มติดแอลกอฮอล ส่งผลให้การแสดงของเขาต้องถูกยกเลิกอยู่หลายครั้ง ในปีถัดมาเขาขึ้นโชว์ที่อเมริกาและญี่ปุ่น เขาล้มไม่เป็นท่า การแสดงไม่เป็นที่น่าประทับใจด้วยเพราะความจำอันเลอะเลือนและการควบคุมร่างกายไม่ได้เป็นตามต้องการ นักวิจารณ์ญี่ปุ่นเอ่ยว่าเขาก็เหมือนแจกันอันมีค่าแต่ทว่ามีรอยร้าว เขาจำต้องเลิกเล่นเปียโนไปถึง 2 ปีเพื่อรักษาตัวให้กลับมาดีดันเดิม

เขาคืนฟอร์มอีกครั้ง ภาพยนตร์สารคดี Vladimir Horowitz : The Last Romantic ถือเป็นข้อพิสูจน์ The Last Romantic ถ่ายทำขึ้นที่ทาว์นเฮ้าส์ของเขาที่นิวยอร์ค (ทาว์นเฮ้าส์ของฝรั่งไม่เหมือนของคนไทยนะคะ มันจะเป็นบ้านที่มีหลายชั้นมากแล้วก็มีที่โล่งกว้าง แต่ว่าคอนเส็ปของมันก็คือบ้านติดๆ กัน เป็นหนึ่งในที่อยู่ของคนรวยอ่ะคะ) มันเป็นเรื่องเผยความคิดความอ่านเกี่ยวกับการตีความเพลงของ Horowitz ภายในตัวภาพยนตร์บรรจุเพลงผลงานของ Horowitz ที่เขาเองก็โปรดปราน ในขณะถ่ายทำเขามักจะใส่มุขล้อเลียนนักประพันธ์หลายท่าน และ Wanda ภรรยาของ Horowitz ก็ได้เผยรูปภาพในอดีตต่างๆ ของเขาในแผ่นฟิล์มด้วย

... ลิงค์ต่อไปนี้ เป็นลิงค์คลิปของ The Last Romantic ทั้งหมดนะคะ (มี 12 ตอน) http://www.youtube.com/view_play_list?p=E455BE1EFE740C56&search_query=horowitz+the+last+romantic ส่วนตอนที่ลงไว้ในบทความนี้เป็นตอนแรกของ The Last Romantic ค่ะ

ปี 1986 เขากลับไปแสดงที่โซเวียต (รัสเซีย) ในกรุงมอสโคว แม้จะเป็นคอนเสิร์ตเพราะเหตุผลทางการเมือง แต่คอนเสิร์ตครั้งนี้ของเขาได้รับความนิยมอย่างมาก ถึงขนาดติดอันดับใน Billboard Chart ทาง Classical Music เป็นปีๆ เขากลับไปแก้ชื่อเสียของเขาในหลายๆ ประเทศที่เขาเคยพลาดอย่าง เช่นในที่ประเทศญี่ปุ่นจนได้รับการตอบรับที่ดี หลังจากนั้นเขาทัวร์คอนเสิร์ตในอีกหลายประเทศ และมีแผ่นเสียงบันทึกภาพ และเสียงของเขาออกมามากมายเหมือนเช่นเคย

สุดท้าย 5 พฤศจิายน 1989 เขาเสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจ ศพของเขาถูกฝังร่วมกับหลุมฝังของครอบครัว Toscanini ที่ประเทศอิตาลี่

ผลงานและสไตล์การเล่นเปียโน

Horowitz

Horowitz เด่นมากในการเล่นชิ้นงานต่างๆ จากยุคโรแมนติก ผลงาน Liszt Sonata ของเขาที่ถูกบันทึกเป็นครั้งแรกนั้น มีคนยกย่องให้เป็นเพลงที่มีการตีความตรงกับประวัติศาสตร์มากที่สุดใน 75 ปีที่ผ่านมา เทียบกับนักเปียโนเป็นร้อยๆ คน นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายผลงานที่ถือว่าเป็นการตีความที่ใกล้เคียงกับความต้องการของผู้ประพันธ์ ได้แก่ Scriabin's Etude in D# minor Op8 No12, Chopin's Ballade No1 in G minor และเพลงเล็กๆ ของ Rachmaninoff อีกหลายบทเพลง

ถึงแม้ว่าเมื่อ Horowitz ขึ้นแสดงจะได้รับคำชมจากผู้ชมทั้งหลาย แต่ก็มีนักวิจารณ์หลายคนไม่ได้เห็นด้วยกับการตีความเพลงของ Horowitz เช่นนักวิจารณ์อย่าง Virgil Thomson เคยกล่าวว่างานของ Horowitz บิดเบือนเพลง และตีความเกินจริงไป หรืออย่าง Michael Stienburg หนึ่งในนักวิจารณ์ดนตรีอเมริกัน เคยเขียนลงบทความว่า Horowitz มีพรสวรรค์ทางการสร้างภาพผ่านเครื่องดนตรี แต่ไม่ได้รับประกันว่าการตีความเพลงนั้นจะถูกต้อง หลายต่อหลายเสียงวิจารณ์ต่างๆ กันเพราะสไตล์ที่รุนแรงหนักแน่นของ Horowitz แต่ก็มีนักเปียโนดังๆ ในยุคนั้นหลายต่อหลายคนที่ยอมรับ และชื่นชอบผลงานที่เขาสื่อออกมา ถูกกล่าวหาว่ามีสไตล์การเล่นที่เกินจริงได้ง่ายๆ เพราะสไตล์ของเขาเน้นเรื่องไดนามิกที่ชัดเจน Horowitz มักเล่นโดยใช้ไดนามิกดังมาก แล้วเปลี่ยนเป็นเบานุ่มได้ฉับพลันทันที โทนที่หนักแน่น และเต็มไปด้วยสีสัน เพลงอย่าง Chopin's Mazuka เขาสามารถเล่นโดยย้ายมือ Octave ห่างๆ ได้อย่างรวดเร็วมากกว่าใครๆ มีคนถามว่าเขาฝึกจุดนี้ได้อย่างไร ผลปรากฏว่าเขาสาธิตฝึกด้วยวิธีการที่เหมือนคนอื่นๆ ทั่วๆ ไปทำกันไม่ได้มีอะไรพิเศษแตกต่าง นี่อาจจะบ่งให้เห็นถึงพรสวรรค์ที่เขาได้รับมาเป็นพิเศษ ... Rachmaninoff เคยแอบคุยลับหลังว่า Horowitz อาจจะแอ๊บเทคนิคเอาไว้ แต่ดูเหมือนว่าความจริง Horowitz ก็ดำเนินการฝึกฝนเหมือนกับนักเปียโนทั่วๆ ไปนั่นแหละ เลยมีเสียงต่างๆ นาๆ ว่าในร่างกายและเส้นประสาทของ Horowitz คงจะเซนส์ซิทีฟมากๆ กับ tone color จึงทำให้แสดงออกมาทางเปียโนได้มากกว่าชาวบ้าน

ที่แปลกอีกอย่างของเขาก็คือ ตำแหน่งมืออันพิสดารเวลาที่เขาเล่นเปียโน ฝ่ามือเขาจะอยู่ต่ำกว่าคีย์เปียโน ซึ่งสำหรับคนอื่นๆ หากเล่นแบบนี้คงจะเล่นได้ลำบาก นิ้วของเขาเองเวลาจับคอร์ดก็ใช้นิ้วแปลกๆ และนิ้วก้อยขวาของเขาถ้าไม่ได้กดเปียโนก็จะหงิกเก็บเอาไว้จนกว่าจะถึงเวลาใช้งาน จนมีคนเปรียบว่า "นิ้วก้อยนิ้วนี้เหมือนงูฉกเหยื่อ" เพราะเมื่อเขาต้องใช้งานนิ้วนี้เขาก็ปล่อยมันลงคีย์เปียโนได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อถึงท่อนเพลงที่ตื่นเต้น เขามักจะยกมือสูงขึ้นจากตัวเปียโนเอามากๆ เขาจะทำหน้าจริงจัง และตัวแข็งทื่อเพื่อเล่นท่อนเพลงนั้นๆ ด้วยสมาธิทั้งหมด สุดท้ายเขาชอบที่จะขึ้นแสดงเปียโนวันอาทิตย์มากกว่าวันอื่นๆ เหตุผลเพราะเขาเชื่อว่าวันอาทิตย์จะเป็นวันที่ผู้คนผ่อนคลายจากการทำงานมากที่สุด และพุ่งความสนใจมาที่การฟังเพลงได้มากกว่าวันอื่นๆ ค่ะ




บทความที่น่าสนใจ จาก "บ้านครูเปียโน"

พื้นฐานการอ่านโน้ตสากล