พอดีมีรีเควสให้เขียนเรื่องความเป็นมาของเปียโนค่ะ ก็นี่มันเวป "บ้านครูเปียโน" นี่นะก็ต้องเขียนเรื่องเปียโนซิ และในเมื่อมีรีเควสมาเราก็จัดให้ นอกจากนี้ถ้าใครต้องการเรื่องราวอะไรเขียนทิ้งไว้ได้นะ หากค้นคว้าข้อมูลได้ความอย่างไรก็จะแลกเขียนแลกเปลี่ยนสู่กันไม่พลาดแน่ๆ
เข้าเรื่องกันดีกว่า ... ตอนนี้ฉันอยากให้คนที่แวะเวียนเข้ามาอ่านลองหลับตาแล้วนึกภาพเปียโนย้อนไปสักปี ค.ศ.1700 เล่นๆ กันดูดีกว่า ว่าแต่จะมีใครนึกออกกันไหมน้า ภาพของทุกคนเป็นยังไงกันบ้างคะ แน่นอนว่าคงไม่ใช่เปียโนหรูๆ เป็นหน้าตาแบบ Upright piano หรือ Grand piano อย่างปัจจุบันหรอกนะ และหากให้จินตนาการเสียงเปียโนยุคโบราณก็คงพอเดาๆ กันได้ว่าเสียงเปียโนสมัยก่อน ไม่ได้เนื้อเสียงแน่น มีเสียงฟุ้งกระจาย หรือฟังแพรวพราวระยิบระยับอย่างเช่นปัจจุบัน แล้วอย่างงี้หน้าตารวมถึงประวัติศาสตร์ของมันพัฒนามาเป็นแบบที่เราเห็นๆ กันอยู่ได้อย่างไรนะ???
ก่อนหน้าเปียโนถือกำเนิด ก็มีเครื่องดนตรีหลายประเภทแตกต่างกันไปนะคะ ก็เลยต้องขอเกริ่นเรื่องเครื่องดนตรีที่จุดประกายไอเดียกับผู้ให้กำเนิดเปียโนกันเสียหน่อย สมัยก่อนโน้นนานมาแล้วมีเครื่องดนตรีนึงคะ ที่มีสายลวดเส้นเล็กๆ ขึงอยู่เยอะแยะมากมาย และผู้เล่นก็ต้องใช้ไม้น้อยๆ ตีลงบนลวดให้เกิดเสียง ถ้าพูดแบบนี้ก็คงไม่มีใครนึกภาพตามได้ แต่ถ้าพูดว่าเครื่องดนตรีนั้นก็คือ "ขิม" ทุกๆ คนก็จะอ๋อ! ถึงบางอ้อกันเลยทีเดียว ใช่แล้ว~! ไอเดียของเปียโนลึกๆ แล้วมาจากขิม!!! ตื่นเต้นกันหรือเปล่านะ~
สมัยก่อนมีเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดก่อนหน้าที่จะกำเนิดเปียโนนะคะ หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินชื่อของมันแล้วก็ได้ค่ะ นั่นคือ Clavichord (คลาวิคอร์ด) และ Harpsichord (ฮาร์พซิคอร์ด) เครื่องดนตรีเหล่านี้ถูกพัฒนามาจากเครื่องดนตรีประเภทฮาร์พ สายที่ถูกขึงจะถูกดีดหรือเกี่ยวให้เกิดเสียงเช่นเดียวกับฮาร์พ แต่ว่ามีผู้คิดค้นใส่คีย์บอร์ดให้กับมันลงไปด้วยเลยเกิดเจ้า Clavichord และ Harpsichord อย่างที่เห็นในรูป
ผู้ที่คิดค้นเปียโนขึ้นมานี่ก็หัวใสไม่ใช่ย่อย เมื่อเครื่องดนตรีอย่างฮาร์พใส่คีย์บอร์ดให้กับมันก็เล่นเป็นเพลงได้ งั้นเราก็ประยุกต์จับขิมมาติดคีย์บอร์ดบ้างดีกว่า ... ชายผู้นั้นที่หัวขมองใสเขาก็คือ Bartolomeo Cristofori
Bartolomeo Cristofori (บุคคลในรูปเลยค่ะ) เป็นลูกกะจ๊อกในเจ้าชายเฟอดินานแห่งอิตาลี่ ฐานะ "ผู้ดูแลเครื่องดนตรี" Cristofori ท่านนี้จริงๆ แล้วเป็นผู้เชียวชาญการทำ Harpsichord มากๆ เลยค่ะ เมื่อเขาคิดจะทำเปียโนขึ้นมามันก็คงไม่ใช่เรื่องยากอะไรนัก ในปี 1700 (บางทีกล่าวว่าประมาณปี 1689) เปียโนหลังแรกถือกำเนิดขึ้น Critofori สร้างขึ้นมาโดยที่ไม่ต้องมีต้นแบบใดๆ ทั้งสิ้น เขาสามารถคิดค้นวิธีการที่ทำให้ค้อนตีลงบนสายและเด้งกลับทันทีได้อย่างอัจฉริยะ (ถ้าค้อนตีสายแล้วไม่เด้งกลับเสียงจะไม่ออก เพราะสายจะไม่สั่น) แต่ว่าเปียโนของ Cristofori นี้ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ให้พูดกันตรงๆ เขาว่ากันว่าเสียงที่ออกจาก Clavichord ในยุคนั้นยังจะเพราะเสียกว่าอีก
สิบปีผ่านไป ในปี 1711 นักเขียนชาวอิตาเลี่ยน Scipione Maffei แกก็เลยวิจารณ์พร้อมให้คำแนะนำเอาไว้ว่าเปียโนน่าจะดีได้มากกว่านี้ จนทำให้มีชายผู้หนึ่งนามว่า Gottfried Silbermann พัฒนาเปียโนขึ้นมา จนมีแพดเดิ้นเอาไว้เหยียบให้เสียงลากยาวได้มากขึ้นหรือที่เรารู้จักกันดีของชื่อ Damper pedal (ที่เหยียบข้างขวาสุดนั่นแหละจ้า) Silbermann เสนอเปียโนที่เขาทำขึ้นให้กับ JS Bach หรือคุณปู่เพลงบาโรคที่เรารู้จักกันดี แรกๆ Bach ไม่ชอบเปียโนของ Silbermann เอาเสียเลย Bach วิจารณ์ว่าเปียโนที่ Silbermann ทำมาใส่ไดนามิกกับโน้ตเสียงสูงๆ มากไม่ได้ เล่นเอา Silbermann โกรธหน้าขึ้นเลือดเลยนะคะ แต่โชคยังดีที่ Silbermann ไม่ใช่คนย่อท้อ เขาทำเปียโนออกมาใหม่เพื่อเอาชนะใจคุณปู่ของเรา จนสุดท้าย Bach ยอมรับในเปียโนของ Silbermann และยังรับปากช่วยขายเปียโนกันอีกด้วยนะ (ได้ค่านายหน้ากันหรือเปล่านี่ไม่อาจจะทราบได้เน้อ) ซึ่งในขณะนั้นก็ประมาณปีค.ศ. 1740 เห็นจะได้แล้วค่ะ
การสร้างเปียโนเริ่มนิยมมากขึ้นมาจากนั้น ประมาณช่วง 1750 - 1770 ยุคของเพลงเปลี่ยนไปจากบาโรคสู่คลาสสิค ทั้งที่เยอรมันและออสเตรียต่างก็มีช่างฝีมือทำเปียโนกันหลากหลายค่ะ ช่างฝีมือการทำเปียโนสำนักเวียนนีส (Viennese School) เช่น Johann Andreas Stein ได้ทำเปียโนสไตล์สำนักเวียนนีสขึ้นมาอย่างเป็นเอกลักษณ์ นั่นคือสายภายในถูกเพิ่ม จากโน้ตละสายเป็นโน้ตละสองสาย หัวค้อนหุ้มหนังอย่างดี ทำให้เกิดเสียงใสน่ารัก เปียโนส่วนใหญ่ในลักษณะของสำนักเวียนนีสตรงคีย์สีขาวแบบปัจจุบันจะมีถูกทาด้วยสีดำหรือสีเข้ม และคีย์ดำที่เราใช้อยู่ปัจจุบันนั้นแต่ก่อนจะใช้สีขาว เปียโนสไตล์สำนักเวียนนีสเป็นที่ถูกใจนักประพันธ์เพลงชื่อดังอย่าง Mozart ไม่ว่าจะเป็น Sonata หรือ Concerto ก็เรียบเรียงขึ้นจากเปียโนในยุคนั้นซึ่งเสียงจะเบา โน้ตจะเคลียร์ใส กว่าเปียโนในปัจจุบันมาก แต่เนื้อเสียงน้อยและไม่ทรงพลัง พร้อมทั้งเปียโนยังดูเปราะบางกว่ามาก ยากที่จะเล่นหนักหน่วงลงไม้ลงมือกับเปียโนรุนแรงได้ ...
เปียโนในยุคแรกเริ่มไปจนยุคคลาสสิคไม่สามารถเล่นอะไรตึงตังได้อย่างปัจจุบันค่ะ เสียงที่ออกมาถึงแม้จะทำดังเบาได้บ้างแต่ก็ดังมากมายเช่นสมัยนี้ไม่ได้ อย่างไรก็ดีเราเรียกเปียโนของศ.ต.ที่ 18 หรือเปียโนโบราณว่า "fortepiano" ถ้าใครเรียนดนตรีมาก็จะรู้ว่า forte แปลว่า ดัง และ piano แปลว่า เบา ที่เรียกเช่นนี้เพราะเปียโนเป็นเครื่องดนตรีที่ทำไดนามิก หรือทำเสียงดังและเสียงเบาได้ชัดเจนกว่าเครื่องดนตรีคีย์บอร์ดประเภทอื่นๆ นะคะ ยิ่งด้วยเปียโนในยุคที่ Mozart ใช้เล่น สามารถทำเสียงใสกังวานได้ดี ยิ่งทำให้หัวสมองที่คิดค้นในการแต่งเพลงของเขาโลดแล่นไปในทางสดใส มีสีสันที่สนุกสนาน อาจกล่าวได้ว่าเพราะเสียงของเปียโนด้วยส่วนนึงที่ทำให้เราไม่พลาดเพลงงามๆ ของ Mozart จนถึงทุกวันนี้นะคะ
เอาล่ะ วันนี้ฉันคงต้องขอพอแค่นี้ก่อน แต่เรื่องราวของเรายังไม่จบนะคะ อาทิตย์หน้าเราจะมาพบเรื่องราวและประวัติของเปียโนก่อนที่จะมาเป็นเปียโนในปัจจุบัน การพัฒนาเปียโนหลังจากยุคคลาสสิคนั้นจะเป็นอย่างไรนะ??? ลองคิดดูซิคะว่าเปียโนเก่าๆ เล่นตึงตังมากไม่ได้แถมเนื้อเสียง ความกังวาลยังมีอยู่น้อยเสียเหลือเกิน แบบนี้บีโธ่เฟ่นของเราจะไม่หงุดหงิดแย่เหรอเนี่ย ~ อย่าลืมติดตามอ่านต่อด้วยนะคะ
ตอนต่อไป >>>