เพิ่มเพื่อน
Line ID: @bkpn

เปียโน : ประวัติความเป็นมาอย่างย่อแล้วนะ (3)

บทความตอนก่อนๆ เล่าแต่เรื่องโบร่ำโบราณ หลายคนที่ไม่ชอบประวัติศาสตร์ก็ไม่ค่อยอยากจะอ่านให้มันรกสมองเสียเท่าไหร่ วันนี้เลยขอเปลี่ยนแนว ทิ้งอะไรเก่าๆ กันไปเสีย มองสิ่งรอบตัวใหม่ๆ บ้าง อะไรที่พัฒนาขึ้นมาจนสวยเก๋เท่ห์กระจายเราจะมาคุยกัน

ใช่แล้ว ... เราจะพูดถึง "นวัตกรรม" , "นวัตกรรม" และก็ "นวัตกรรม"

หนทางแห่งความคิดและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ

อย่างที่กล่าวไปเมื่อคราวที่แล้ว เปียโนในยุคของโชแปงและหลังจากนั้นมาอีกเล็กน้อยได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โรงงานทำเปียโนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดกันทั่วยุโรป เมื่อมีบริษัทแข่งขันกันเยอะก็ส่งผลให้เสียงของเครื่องดนตรีดีขึ้นเรื่อยๆ บริษัทไหนก็ตามที่คิดอะไรใหม่ได้จะเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น เปียโนในปลายศต. ที่ 19 เรียกได้ว่าคุณภาพล้นทะลัก เสียงของเปียโนได้รับการพัฒนาจนเกือบจะอิ่ม บริษัทเล็กๆ ที่ไม่มีชื่อเสียงนัก ก็ต้องหาลู่ทางกันอย่างยากลำบากในการคิดค้นลูกเล่นใหม่ๆ หรือพัฒนาคุณภาพของเปียโนให้ดีกว่าเปียโนที่เคยเป็น และรอวันที่จะมีชื่อโด่งดังกับเขาบ้าง ยิ่งแข่งกันคิดแข่งกันผลิตก็ยิ่งได้เปียโนที่มีเสียงดีขื้น หรือแปลกแต่งต่างกันตามสไตล์ของแต่ละยี่ห้อ

อะไรกันบ้างนะ ที่บริษัทต่างๆ คิดค้นขึ้นมาแล้วมันเก๋มากมาย

1. กลไกการตอบสนอง

อย่างที่เคยเล่าไปว่าประมาณปี 1850 มีนวัตกรรมใหม่ออกมา คือทัชชิ่งที่ตอบสนองการเล่นตัวโน้ตซ้ำๆ อย่างรวดเร็วได้บนแกรนด์เปียโน ส่งผลให้นักประพันธ์สามารถแต่งเพลงอันทรงพลังออกมาได้มากมาย บทเพลงเหล่านั้นเมื่อเล่นกับแกรนด์เปียโนก็จะพริ้วไหวน้ำไหลนกร้องกันเลยทีเดียว แต่สำหรับผู้ที่ใช้อัพไรท์สมัยนั้นจะเศร้ามากเพราะเปียโนไม่ได้ซัพพอร์ทให้เล่นเร็วได้เท่าแกรนด์ การตอบสนองของเปียโนจะช้ากว่ากันเยอะมาก จึงมีบริษัทนึงชื่อ Fandrich & Sons คิดค้นนวัตกรรมที่เรียกว่า "Fandrich Vertical Action" ค่ะ เป็นระบบกลไกที่จับสัมผัสความรู้สึกของแกรนด์เปียโนไปบรรจุอยู่ในอัพไรท์เปียโน เปียโนตัวแรกที่ใช้ระบบนี้คือ แม่แบบของอัพไรท์ Steinway K52 จากนั้นก็มีบริษัท Yamaha รวมถึงบริษัทอื่นๆ อีกมากมายที่นำกลไกระบบแบบนี้ไปใช้ด้วยเหมือนกัน ศึกษาข้อมูลเพิ่มเดิมได้ที่ www.fandrich.com

เรื่องของกลไกที่จะตอบสนองต่อผู้เล่นให้ได้มากที่สุด คงจะหยุดอยู่นิ่งแน่ๆ ถ้าหากไม่มีใครคิดแหวกออกมาถึงขนาดที่ว่าจะต้องตอบสนองผู้เล่นให้ได้ทุกคน ไม่ว่าจะเล่นแนวไหนก็ตาม "Magnetic Balanced Action" ผุดขึ้นมาในหัวสมองของ Evert Snel และ Hans Velo สองหนุ่มในเนเธอร์แลนด์ ไม่ว่าผู้เล่นจะเป็นใคร เปียโนจะคำนวณน้ำหนักนิ้วของท่านและตอบสนองกลับอย่างถูกอกถูกใจผู้เล่นภายในเสี้ยววินาที กลไกภายในที่ว่าคำนวณสไตล์ของผู้เล่นได้เพราะใช้เรื่องของสนามแม่เหล็กเข้ามาช่วยจับน้ำหนักของผู้เล่นค่ะ หากอยากลองว่ากลไกเช่นนี้เป็นอย่างไร ก็แนะนำให้ลองเปียโนของยี่ห้อ Fazioli ดูนะคะ

2. Bridge Agraffes

Bridge Agraffes

ขออธิบายกันก่อนสำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบเรื่องส่วนประกอบภายใน และไม่รู้จัก Bridge Agraffes นะคะ เครื่องสายทุกชนิดต้องมี Bridge นะ คนที่เล่นไวโอลินหรือกีตาร์คงรู้จักกันดีค่ะ อย่างเล่นไวโอลินเขาก็จะเรียกว่า "หย่อง" ซึ่งเปียโนเองก็มี Bridge ของเปียโนเหมือนกันนะ เป็นส่วนที่ยกประคองเว้นระยะห่างระหว่างสายเปียโนกับซาวด์บอร์ด มีหน้าที่เอาไว้ช่วยเรื่องการสั่นสะเทือนของสายที่จะส่งเสียงไปถึงซาวด์บอร์ด

ส่วน Bridge Agraffes นี่จะเป็นหัวหมุดทองเหลืองล๊อคสายเปียโน (ตามรูปขวามือ) ชิ้นส่วนตรงนี้จะเห็นในเปียโนแพงๆ หรือพวกเปียโนยุโรปเสียมากกมาเพราะมันค่อนข้างมีราคาแพง Bridge Agraffes มีหน้าที่ล๊อคต่ำแหน่งของสายภายใน ช่วยให้การสั่นสะเทือนของสายไปหา Soundboard มีคุณภาพยิ่งขึ้น ชิ้นส่วนตรงนี้ไม่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมใหม่มากมายนัก แท้จริงมันค่อนข้างมีมานานพอดูค่ะ แต่ว่ามีบริษัท Stuart and Son ของทาง Australia นำกลับมาใช้ใหม่จนมีผู้นิยมอีกครั้ง

3. จำนวนคีย์ที่เพิ่มขึ้น

จำนวนคีย์ที่เพิ่มขึ้น

โดยปกติเปียโนจะมีทั้งหมด 88 คีย์ ใครเรียนเปียโนก็ควรจะจดจำเลข 88 นี้ไว้นะ เพราะเหมือนเป็นความรู้รอบตัวสำหรับนักเรียนเปียโนจริงๆ ค่ะ 88 คีย์ที่ว่าจะมีคีย์ดำ 36 คีย์ และคีย์ขาว 52 คีย์นะคะ เท่ากับว่าทั้งหมดที่เราเล่นๆ กันอยู่มี 7 ออกเทฟ กับโน้ตโผล่มาเป็นเศษอีกเล็กน้อย ตัวแรกสุดฝั่งซ้ายมือคือตัว ลาต่ำมากเราจะแทนด้วย A0 ส่วนบนสุดคือโดสูงมาก เราจะเรียกว่า C8 หรือโดในออกเทฟที่ 8 นั่นเอง

ปัจจุบันมีบริษัทเปียโนผลิตเปียโนช่วงกว้างที่กว้างขึ้นอยู่หลายที่ด้วยกันนะคะ บริษัทที่เรียกว่าดังและใครๆ ก็รู้จัก Bosendorfer ได้ผลิตเปียโนช่วงกว้างมากกว่าขนาดปกติเลยออกไปถึง 8 ออกเทฟเต็มๆ (จากปกติประมาณ 7 1/4) นั่นคือรุ่น Imperial Bosendorfer 290 (ดูได้ในรูปซ้ายมือเปียโนสีน้ำตาลจ้า) คีย์บอร์ดมีความยาวถึง 9 ฟุตครึ่ง บรรจุคีย์ทั้งหมด 97 คีย์ (เพิ่มตัวเบสไปถึง C0) โอโห~! เยอะอย่างงี้แล้วจะไม่ตาลายเหรอ??? เราก็มีคำตอบนะคะ ทางบริษัทผลิตเปียโนเขาทำฝาดำๆ ปิดคีย์ที่เกินออกมาไว้ด้านข้างๆ ค่ะ ถ้าปิดเอาไว้ก็จะดูเหมือนเปียโนปกติเท่านั้นเอง --- แต่ถ้าเป็นรุ่นเก่าหน่อยคีย์จะเป็นสีดำแทนค่ะ บางรุ่นก็ทิ้งไว้ให้คนตาลายเล่นไม่ได้แก้ปัญหาอะไรตรงจุดนี้นะ --- (ครูของฉันเคยเล่นค่ะ เขามาเล่าให้ฟังว่าเบสแน่นมาก แต่ว่าพอต่ำมากหูคนเราก็ฟังความต่างระหว่างโน้ตต่อโน้ตกันไม่ค่อยออกแล้ว) เปียโนรุ่นนี้มีความโด่งดังมากนะ จนถึงขนาดมีนักประพันธ์คนสำคัญๆ ประพันธ์เพลงไว้สำหรับเปียโนรุ่นนี้โดยเฉพาะ อันได้แก่ Bela Bartok - Piano Concertos No. 2 และ 3, Claude Debussy - La Cathedrale Engloutie, Modest Mussorgsky - The Great Gate of Kiev ฯลฯ (คือก็มีอยู่ประมาณ 5-6 เพลงเห็นจะได้นะคะ)

แต่นี่ไม่ใช่เปียโนที่มีช่วงกว้างมากที่สุดนะคะ กว้างสุดๆ เป็นของ Stuart and Son มีคีย์ถึง 102 เลยค่ะ

4. แพดเดิล

ยุคโรแมนติกและหลังจากนั้นบทเพลงค่อนข้างโชว์ถึงอารมณ์ต่างๆ นานา ไม่ว่าจะหงุดหงิด หงอยเหงา เศร้า หรือโกรธ เพลงมีสไตล์ที่แตกต่าง การควมคุมการสั่นสะเทือนของสายได้อย่างเฉพาะเจาะจงจึงถูกคิดค้นขึ้น อีกเช่นกันที่ความคิดนี้มีผู้คิดเอาไว้นานแล้ว แต่ทว่าได้รับการพัฒนาจนเรียกว่าเป็นที่ยอมรับก็โดยบริษัท Steinway ประมาณปลายศต.ที่ 19 เพราะสามารถควบคุมแดมเปอร์เฉพาะจุดได้ในช่วงที่ค่อนข้างกว้าง เราเรียกแพดเดิลจุดนี้ว่า Sostenuto Pedal นะคะ

5. สาย Aliquot

Aliquot

ระบบ Aliquot String ถูกคิดขึ้นโดย Julius Blunthner สายที่เรียกว่า Aliquot String จะเป็นเหมือนสายเสริมจากสายเดิมที่มีอยู่ เพื่อการสั่นสะเทือนที่มากขึ้นของโน้ตตัวสูงๆ (ลองกดโน้ตตัวสูงของเปียโนจะพบว่าเสียงจะคงอยู่ได้ไม่นานเท่ากับเสียงตัวต่ำ) Aliquot String จะถูกติด 3 ออกเทฟด้านโน้ตตัวสูง เจ้าสายนี้จะไม่ถูกค้อนตีแต่อย่างใด มันเป็นสายเสริมเพื่อรับช่วงต่อการสั่นสะเทือนจากสายปกติค่ะ (ในรูปจะเห็นสายที่สี่ ที่อยู่ข้างๆ สายปกติที่จะมาสามสายติดกันนะคะ อันนั้นคือ Aliquot String ค่ะ) เมื่อค้อนตีสายปกติสายปกติจะสั่นไปถึงสาย Aliquot ที่รับช่วงต่ออยู่ เป็นเหมือนการจำลองการสั่นก็ว่าได้ เสียงที่ออกมาจะเข้มข้นกว่าเดิม อย่างไรก็ดีเปียโนของบริษัท Blunthner ที่ใช้สาย Aliquot นี้เป็นยี่ห้อเปียโนระดับต้นๆ อยู่เหมือนกันค่ะ ก็จะเป็นเปียโนที่มีราคาแพง เปียโนที่มีสายแบบ Aliquot String จึงไม่ได้เห็นกันได้ทั่วๆ ไปค่ะ

.........

ถึงข้อ 5 กันแล้วนะคะ ตอนแรกฉันสัญญาว่าจะจบให้ได้ภายในตอนที่ 3 เอาเข้าจริงๆ เรื่องราวมันเยอะมากค่ะ และก็มีเรื่องเล่าอีกเพียบเลย และยังมีบางชิ้นส่วนของเปียโนที่ฉันอธิบายได้ไม่ละเอียดนะคะ ต้องขอเก็บเอาไว้อธิบายในโซนเรื่องส่วนประกอบของเปียโนโดยตรงกันเลยดีกว่านะ

คราวหน้ายังคงพบกับเรื่องนวัตกรรมในเปียโนตอนจบนะคะ สัญญาว่าจบแล้วล่ะ คราวนี้ขออภัยมากๆ ที่ส่งบทความช้าไปนิด เดี๋ยวคนติดตามอ่านจะหนีหายกันไปหมด เพราะข้อมูลมันเยอะมากจริง แล้วก็ต้องแปลกันมาจากหลายแหล่งจนตาลายเลยค่ะ

ติดตามนวัตกรรมในเปียโน และตบด้วยเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เปียโนต่อในครั้งหน้านะคะ

<<< ตอนก่อนหน้า ตอนต่อไป >>>




บทความที่น่าสนใจ จาก "บ้านครูเปียโน"

พื้นฐานการอ่านโน้ตสากล