เรื่องที่เราจะพูดในวันนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเอามากๆ นั่นก็คือเรื่องของยุคที่แตกต่าง ที่ส่งผลต่อสไตล์ของเพลงที่ต่างกันออกไปค่ะ ฉันคงไม่ย้อนประวัติศาสตร์มากจนเกินไป ถึงขนาดยุคไดโนเสาร์เขาเล่นเพลงกันอย่างไร ฉันขอเจาะแคบลงมาที่ช่วงเวลาที่เรียกว่า Common Practice Period แล้วกันนะคะ ซึ่งช่วงเวลาตรงนี้กินพื้นที่ 3 ยุคหลักๆ ด้วยกันนั่นก็คือ บาโรค คลาสสิค และโรแมนติก นั่นเอง
ช่วงเวลาของ Common Practice Period เหมารวมตั้งแต่ปี 1600 - 1910 นั่นก็คือรวม ยุคบาโรค คลาสสิค โรแมนติก เอาไว้ จุดเด่นของช่วงเวลาตรงนี้คือการแต่งเพลงตามกฎเกณฑ์ การใช้ฟอร์มคอร์ด หรือการแต่งเพลงตามแบบแผนค่านิยมที่เชื่อว่าจะออกมาเพราะและเหมาะสม (เช่น การเดินคอร์ด I - IV - V - I หรือการหลีกเลี่ยงขนานคู่ 5 หรือคู่ 8 ในการแต่งเพลง) ส่วนคำที่เรียกรวมสามยุคนี้ว่า Common Practice Period นั้นมาจากคำนำในบทความชื่อ Harmony ที่ Walter Piston นักแต่งเพลงชาวอเมริกันเป็นผู้เขียนขึ้น
ก่อนหน้า Common Practice Period เขาได้แบ่งยุคทางดนตรีเด่นๆ ออกมา เป็นยุค Medieval หรือดนตรียุคกลาง (เป็นยุคหลังจากอาณาจักรโรมันกำลังเสื่อมถอย) และยุค Renaissance (ยุคที่ศิลปะของอิตาลีเฟื่องฟู) สองยุคนี้ดนตรีเพิ่งจะเริ่มเป็นดนตรีแบบ Polyphony ได้ไม่นานนัก
Polyphony ในทางดนตรีจะหมายถึงดนตรีที่ประสานแนวเสียงมากกว่าสองแนวขึ้นไป อ่านประโยคสักครู่อาจจะอ่านไม่ค่อยเข้าใจนัก ให้เราลองนึกภาพคนสองคนกำลังร้องเพลงคนละเพลงที่มีเมโลดี้ไม่เหมือนกันเลย (แต่อาจจะมีการล้อเลียนเสียงหรือการก๊อปๆ เพลงของอีกคนให้ฟังคล้ายๆ เพลงเดียวกันในบางช่วง) ในตอนที่เราฟังคนแรกร้องจากนั้นไปฟังคนที่สองร้อง เราพบว่าสองคนนี้ร้องคนละเพลงจริงๆ แต่พอให้สองคนนี้มาร้องพร้อมกัน มันก็ออกมาฟังไพเราะเสนาะหูได้อย่างหน้าตาเฉย ความสอดคล้องของเพลงสองเพลงเข้ากันได้อย่างดี ทั้งๆ เมื่อครู่ฟังแยกกันร้องเราก็คิดว่าเป็นคนละเพลงกันแท้ๆ นี่ก็คือ Polyphony ค่ะ เพลงแนวนี้อาศัยการแต่งเพลงที่ปราณีต เพราะผู้แต่งต้องนั่งคำนวณว่าเมื่อโน้ตตัวนั้นไปเจอกับโน้ตตัวนี้มันจะเข้ากันหรือไม่ การประสานของแนวไม่ใช่แค่สองแนวอย่างที่กล่าวในตัวอย่าง เหมือนคนสัก 20 คน หรือเครื่องดนตรีสัก 20 ชิ้นเล่นเพลงคนล่ะเพลงแต่เมื่อเล่นพร้อมกันต้องออกมาเป็นเพลงเดียวกันให้ได้
หลังจาก Medieval era และ Renaissance Era ยุคที่เกิดขึ้นนั่นก็คือ Baroque ที่เรากำลังจะกล่าวถึง
ยุค Baroque นั้นตามหลังยุค Renaissance มาติดๆ การแบ่งแยกยุค Baroque ออกจาก Renaissance เกิดขึ้นที่อิตาลี กลุ่มนักวิชาการ Florentine Camerata นักวิชาการด้านศิลปะของอิตาลีได้แบ่งยุคทางศิลปะนี้ออกมาเป็นยุค Baroque ตามศิลปะที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงออกจากยุคเก่า ยุค Baroque จึงไม่ใช่ชื่อยุคทางดนตรีเท่านั้น หากแต่เป็นยุคที่แบ่งเรื่องของ ศิลปะทั้งจิตกรรมและปฏิมากรรม รูปปั้น งานสถาปัตยกรรม งานเขียนบทกวี ฯลฯ ที่เป็นงานศิลป์ คำว่า Baroque มาจากภาษาโปตุเกสอีกที มีความหมายทางภาษาอังกฤษว่า Misshapen Pearl (ขออภัยเพราะฉันก็ไม่ทราบว่าคำนี้ต้องการจะหมายถึงอะไรเช่นกันค่ะ แต่เขาใช้อธิบายงานสถาปัตยกรรมที่วิจิตรมากในยุค Baroque)
อย่างที่บอกว่ากลุ่มนักวิชาการด้านศิลปะเริ่มเห็นการพัฒนาที่แบ่งชัด ในตอนต้นของยุค Baroque ความต่างทางดนตรีนั้นจะเห็นได้ชัด ที่เริ่มมีการแต่งเพลงให้เสียงคนร้องนำฟังชัดเจนและมีการเล่นดนตรีคลอตามเป็นเสียงพื้นหลัง แทนที่จะร้องเพลงแข่งกันหรือทำให้เสียงตีกันชัดเจนลักษณะแบบ Polyphony เพียวๆ อย่างของยุค Renaissance ชอบใช้ เพลงที่แต่งขึ้นในยุค Baroque ช่วงต้นลักษณะเอื้อให้เสียงคนร้องโซโล่ฟังชัดถูกใช้ในละครเพลงเรื่อง Dafne และ L'Euidice ของผู้ประพันธ์ Jacopo Peri บุคคลในรูป (ละครเพลงและเพลงนั้นมีมาก่อนหน้าแล้วค่ะ แต่ว่า Peri เป็นคนมาประพันธ์ใหม่ให้ท่อนร้องโซโล่ชัดเจนและมีเสียงดนตรีเล่นแอคคอม) และนี่ก็เป็นเหมือนจุดแรกเริ่มของการเกิดละครเพลงอย่างโอเปร่าจนทุกวันนี้
ในคลิปต่อไปนี้ก็จะเป็นเพลงในละครเพลงเรื่อง L'Euidice ที่ Jocopo Peri ประพันธ์ขึ้นค่ะ
ระบบการแต่งเพลงยิ่งชัดเจนและต่างกับ Renaissance มากขึ้นเมื่อมีแนวคิดเกี่ยวกับ Figured bass หรือระบบการว่างแนวเบส และระบบกฏเกณฑ์การประสานเสียงใหม่ ไม่ใช่แค่การบันเทิงที่ต้องการเสียงร้องที่ฟังชัด ในทางศาสนจักรเอง เพลงที่ถูกแต่งขึ้นในยุค Renaissance เสียงสวดฟังแล้วตีกันไม่ชัดเจน การแต่งเพลงต้องอาศัยเสียงประสานและระบบที่ดีขึ้น การเพิ่มแนวประสานที่เชื่อมเสียงร้องกับเสียงเบสต่ำเกิดขึ้นเพื่อเสริมความชัดเจนของบทสวดต่างๆ แนวการแต่งเพลงแบบที่มีระบบการคำนวณเสียงประสานว่าโน้ตตัวใดควรคู่อยู่กับโน้ตตัวใดมีระยะห่างกันกี่ช่วงเสียงนี้เรียก Homophony
ความจริง Homophony ไม่ได้เกิดในยุค Baroque แต่ Baroque ทำให้ Homophony ใช้งานได้จริง Homophony แตกต่างจาก Polyphony ตรงที่เสียงประสานในแต่ละแนวสร้างจากคอร์ดและดำเนินไปพร้อมๆ กัน อธิบายกันให้เข้าใจยิ่งขึ้นคือ Homophony ถ้าเราฟังสองคนร้องเพลง มันดูเหมือนว่าสองคนนี้ร้องเพลงเนื้อออกมาเหมือนกันเลย เช่นร้องคำว่า "ฉันรักเธอ" เหมือนกัน แต่อีกคนร้อง "ฉันรักเธอ" ในตัวโน้ต "โด โด โด" แบบเสียงต่ำๆ ส่วนอีกคนร้อง "ฉันรักเธอ" ในตัวโน้ต "โด มี ซอล" แล้วก็ทำเสียงสูงๆ อีกต่างหาก เมื่อทั้งสองคนร้องเพลงนี้พร้อมกัน ปรากฏว่ามันมันก็กลายเป็นประสานกันได้อย่างลงตัว เมื่อนักแต่งเพลงยุคบาโรคเริ่มต้นสร้างระบบเสียงเบส หรือเพิ่มแนวประสานที่เชื่อมเสียงร้องกับเบสเพลงก็จะชัดเจนขึ้น ระบบ Homophony จึงเวิร์คมากในวงการร้องคอรัสในโบสถ์ การแบ่งเสียงออกเป็น 4 แนว soprano alto tenor และ bass เป็นที่นิยมจนถึงทุกวันนี้ ส่วนวิธีการแต่งเพลงลักษณะนี้เขาเรียกการใช้ Counterpoint ภาษาไทยแปลตรงๆ ว่าจุดที่มาประจัญหน้ากัน ถ้าจะให้เดาก็คงจะหมายถึงคนแต่งเพลงต้องหาโน้ตที่มาประจัญกันและจับมันสอดประสานให้เข้ากัน ผสมกันให้ลงตัวให้ได้
ในกลางยุค Baroque เรื่องราวของบทกวีพัฒนาขึ้นมาก และในยุคนั้นสิ่งพิมพ์มีบทบาทเพิ่มขึ้นทางสังคม ผู้คนทราบข่าวสารได้ไว ได้อ่านวรรณกรรมดีๆ ละครเพลงโอเปร่าดึงดูดผู้ชมได้มาก ดนตรีสามารถพัฒนาไปได้เร็วตามค่านิยมของผู้คนในสมัยนั้น ยิ่งด้วยสิ่งพิมพ์แพร่หลายข่าวสารการจัดแสดงละครกระจายออกเป็นวงกว้างก็ยิ่งเป็นลูกโซ่ให้ดนตรีพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโอเปร่าโด่งดังและมีผู้คนสนใจดนตรีกันมาก ดนตรีจึงถูกยกระดับให้เป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง มีการเรียนการสอนระบบการทำ Counterpoint กันอย่างเป็นจริงเป็นจัง
ปลายยุค Baroque จุดเปลี่ยนที่ชัดที่สุด แนวการทำ Counterpoint แบบที่สืบต่อมาจากการวางแนวประสานแบบ Polyphony ตามยุค Renaissance ได้รับการปรับปรุงพัฒนาใหม่เอี่ยม Counterpoint แบบใหม่ได้รับการผสมผสานรูปแบบของ ระบบการแต่งเพลงแบบ Homophony (ที่ร้องเพลงเนื้อเหมือนกันแต่เปลี่ยนเมโลดี้) กับ ระบบการแต่งเพลงแบบ Polyphony (ที่ร้องกันคนละเพลงแต่เอามาผสมกัน และอาจจะมีการล้อเลียน หรือก๊อปๆ เสียงของแนวข้างเคียงบ้าง)
สิ่งต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นทำให้เราแยก Baroque ออกจากเพลงยุคที่เก่ากว่า เพราะถึงแม้สมัยก่อนหน้า Baroque จะมีแนวการแต่งแบบ Polyphony และ Homophony แต่ความสับซ้อนนั้นเทียบกันไม่ติด ยิ่งด้วยยุค Baroque เครื่องดนตรีได้รับการพัฒนา มีเครื่องดนตรีใหม่ๆ เกิดขึ้น ทักษะผู้เล่นที่ดีขึ้น ลูกเล่นลูกประดับ Ornament อย่างการ Trill การ Turn ทำให้เพลงมีจริตจะก้านเพิ่มพูนเห็นเด่นชัด จึงทำให้ความยากให้การแต่งเพลงมากเพิ่มทวีคูณเพื่อเอื้อต่อการโชว์ความสามารถของนักแสดง นักร้อง นักดนตรีค่ะ
เก่าจริงๆ ก็คงเป็น Jacopo Peri ในรูปข้างต้นที่เห็นหน้าค่าตากันไป กับเพลงที่เพิ่งดูในคลิปเมื่อครู่นะคะ สำหรับนักดนตรีที่ค่อนข้างมีชื่อของ Baroque นั้นมักจะเป็นนักประพันธ์ยุค Baroque ตอนปลายแล้วค่ะ
คนแรกที่คิดว่าพูดชื่อแล้วต้องมีคนรู้จักบ้างก็ Domenico Scalatti นักประพันธ์ชาวอิตาลีที่ชีวิตอาศัยอยู่ในโปรตุเกสและสเปนมากกว่าบ้านเกิด Scalatti แต่งโซนาต้าไว้เยอะมาก 555 บท (ไม่ได้ขำนะ เขาแต่งมาห้าร้อยห้าสิบห้าบท) ถ้าอยากฟังเพลงของเขาก็สุ่มโซนาต้ามาสักเบอร์ ตั้งแต่ Sonata Kk.1 จนถึง Sonata Kk.555 ก็จะได้ไอเดียมากขึ้นค่ะ
คนต่อมาทำให้โลกสีสันสดใสกับบทเพลงเปิดรับสี่ฤดูกาล ที่โฆษณาซเว่นเซนส์มักใช้เปิดฤดูการไอศครีมที่มีผลไม้หน้าตาหวานฉ่ำ Antonio Lucio Vivaldi นักแต่งเพลงและนักไวโอลินมือพระกาฬในสมัยนั้น (นอกจากนี้เขายังเป็นพระเป็นอาชีพเสริมด้วย) บทเพลงเด่นๆ ก็อย่างที่บอกไปนั่นคือ Le quattro stagioni หรือ The Four Seasons ที่แค่ได้ยินชื่อเสียงไวโอลินก็ลอยมาเสียแล้ว Vivaldi แต่งโอเปร่าไว้ถึง 40 กว่าชิ้น และ Concerto กว่า 500 รายการค่ะ
ที่ดังที่สุดของยุค Baroque ใครๆ ก็รู้จักเห็นจะไม่พ้น Johann Sebastian Bach คุณปู่นักประพันธ์ชาวเยอรมัน Bach เกิดขึ้นก็ปลาย Baroque สุดๆ แล้วค่ะ เพราะงั้นเพลงของ Bach จึงค่อนข้างโชว์ความสามารถที่ยุคบาโรคกำลังอิ่มตัวได้อย่างเต็มที่สุดๆ Bach แต่งเพลงเอาไว้มากมาย ที่จะแนะนำได้แก่ Brandenburg concertos, Goldberg Variations (ชิ้นนี้เขาว่ากันว่าเป็นเพลงที่มีเสียงสวยงามที่สุดในโลกนะคะ ~ เขาว่ากันอย่างงั้น), สุดท้ายก็คือผลงานที่นักเปียโนรู้จักกันดีอย่างบท Prelude and Fugue ต่างๆ ใน Well-Tempered Clavier ค่ะ
สุดท้ายที่เรียกว่ามาหลังแต่ดังนะ George Frideric Handel นักประพันธ์ลูกครึ่งเยอรมัน-อังกฤษ เขามาที่หลังเพลงของเขาจึงมีอิทธิพลสูงต่อยุคหลังจาก Baroque นั่นก็คือยุคคลาสสิค เพลงที่ดังมากๆ ของเขาชื่อ The Harmonious Blacksmith จริงๆ แต่ก่อนเพลงเก่าๆ จะไม่มีใครตั้งชื่อหรอกค่ะ ชื่อนี้มีคนมาตั้งให้ทีหลังซึ่งจนทุกวันนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าใครเป็นคนตั้งนะคะ
ฉันขอจบเรื่องราวของยุคบาโรคเอาไว้ตรงนี้แล้วกันค่ะ ความจริงเรื่องราวที่เล่ามาเป็นเพียงเรื่องคร่าวๆ ที่พยายามตัดทอนรายละเอียด เนื่องจากยุคบาโรคค่อนข้างเก่า การอธิบายทำได้แค่เพียงคร่าวๆ เพราะฉันเองยอมรับว่าอ่านเรื่องราวมาบางอย่างก็ไม่เห็นภาพและไม่อาจจะเขียนลงละเอียดได้ เรื่องราวในตอนต่อไปนั้นจะเป็นยุคถัดจากบาโรค นั่นคือยุคคลาสสิคที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียวค่ะ ช่วยติดตามกันด้วยนะคะ
ตอนต่อไป >>> |