เมื่อ Beethoven คุณลุงคนสำคัญที่ทำอะไรนอกกรอบจนทำให้เกิดรูปแบบการแต่งเพลงใหม่ๆ มามากมาย จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ บทความครั้งนี้ของเราจึงเป็นการจบเนื้อเรื่องสามยุคสำคัญใน Common Practice Period เพราะเราเดินทางมาถึงยุคสุดท้ายที่จะกล่าวถึงแล้วค่ะ นั่นก็คือยุค Romantic ที่หลายๆ คนรอคอย (จะมีไหมนะ)
จะว่าอย่างงั้นก็ได้นะคะ เมื่อครั้งที่ฉันเรียนสังคมศาสตร์สมัยมัธยม อาจารย์ประจำวิชาท่านนึงที่ฉันจำไม่ได้แล้วว่าหน้าตาของเธอเป็นอย่างไร ฉันจำได้แต่เสียงของเธอค่ะ เธอเอ่ยว่าหากต้องการรู้เรื่องอะไรในประวัติศาสตร์ ง่ายนิดเดียวคือดูจากศิลปะ ศิลปะสื่ออะไรออกมาก็เท่ากับว่าสังคมสมัยนั้นมีแนวคิดแบบนั้นเกิดขึ้นแค่นั้นเลยจริงๆ
ในยุคโรแมนติกดนตรีก็ดี ศิลปะก็ดี มีการสื่อความหมายทางอารมณ์หลากหลายกว่า ภาพนิ่งๆ เน้นกล้ามเนื้อความสวยงามในยุคก่อนหน้า ฉันขอยกตัวอย่างรูปภาพในยุคก่อนหน้ายุค Romantic เทียบกับรูปที่อยู่ในยุคนะคะ ภาพแรก (Creation of Adam) ที่จะนำเสนอคือภาพในยุคเรเนสซองส์ของไมเคิลเองเจลโล่ เป็นตอนที่พระเจ้าสร้างอดัมขึ้น ขณะกำลังแตะมือกัน ทั้งพระเจ้าทั้งอดัม ไม่แสดงสีหน้าอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น สัดส่วนของพระเจ้าก็ดี อดัมก็ดี ทวยเทพก็ดี กล้ามเนื้อเน้นๆ ปรัชญาสังคมที่ใกล้ชิดพระเจ้า ความสมบูรณ์แบบ การอยู่ในกรอบในหลักเกณฑ์ พบได้ในสังคมยุคเรเนสซองส์ค่ะ แต่ว่าอีกภาพ (Liberty Leading the People) ที่อยากจะเทียบ งานของเดอลาครัวซ์จากยุคโรแมนติก ภาพนี้สื่อถึงสงครามในการปฏิวัติฝรั่งเศส สีหน้าของแต่ละคนในรูปมีการแสดงออกอารมณ์ มีเรื่องของสงครามการสูญเสียเข้ามาเกี่ยวข้อง ความไม่สวยงามปรากฏในรูปอย่างเด่นชัด ปรัชญาสังคมเรื่องความสมบูรณ์แบบจบสิ้นลงแล้ว การแสดงออกถึงชาติกำเนิด ตัวตน อารมณ์โกรธ เศร้า ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่ต้องปิดบัง นี่คือแก่นของยุค Romantic โดยแท้
ดนตรีกับศิลปะมันไปด้วยกัน ... เพราะฉะนั้นการอยู่ในกรอบ การค้นหาความสมบูรณ์แบบ ของเพลงในยุคเก่าๆ จึงถูกสลัดทิ้ง ในยุคโรแมนติก นักประพันธ์เพลงพยายามดิ้นรนตัวเองให้ออกนอกกรอบเพื่อแสดงตัวตนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น การแสดงออกถึงอารมณ์เป็นจุดเด่นของยุคที่กำลังจะกล่าวถึง
ยุค Romantic กินเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1815-1910 โดยประมาณ ยุค Romantic เป็นยุคที่ตามหลังยุค Classic อย่างที่เคยเอ่ยไป และสิ้นสุดลงในช่วงเวลาที่มีเพลงของยุคศต. 20 ขึ้นไปเข้ามาแทนที่ (ซึ่งจะถูกรวมเรียกว่ายุค modern and contemporary) อย่างที่เคยกล่าวเมื่อครั้งที่แล้วว่าจุดเปลี่ยนของ Romantic คือ Beethoven และการคิดนอกกรอบของเขา เพลงต่อๆ มา และนักประพันธ์คนอื่นๆ ของยุค Romantic จึงพยายามหลุดกรอบออกมาให้ได้เช่นกัน ส่งผลให้รูปแบบของการประพันธ์ขยายออก จากเพลงที่ฟังแล้วเดิมๆ ไม่ว่าฟังกี่เพลงๆ ก็เหมือนกันไปเสียหมด แต่พอมาเป็นยุค Romantic เรากลับพบความหลากหลายของเพลงมากขึ้น รูปแบบที่ไม่มีแน่นอนตายตัว คาดเดาได้ยากถือกำเนิดขึ้นในยุคนี้ ที่เด่นๆ คือ การเน้นธีมเมโลดี้ของเพลงมากขึ้น นักประพันธ์ไม่ใช่แค่แต่งเพลงตามรูปแบบที่กำหนดเหมือนยุค Classic ที่ตายตัวว่าตรงไหนต้องเร็วต้องช้า คีย์เพลงที่ใช้ต้องคีย์ไหนเปลี่ยนเป็นคีย์ไหน ในยุคโรแมนติก เน้นเรื่องของการส่งต่ออารมณ์จากเพลงท่อนนึง มูฟเม้นท์นึง สู่อีกมูฟเม้นท์นึงอย่างมาก ความเร็วความช้าของมูฟเม้นท์สามารถเปลี่ยนไปตามอารมณ์ของผู้ประพันธ์มากกว่าการทำตามกฎเกณฑ์ คีย์เพลงที่ใช้เองก็ตามแต่อารมณ์เช่นกัน
แรงบันดาลใจของเพลง ไม่ได้มาจากเมโลดี้ลอยๆ ในหัวสมองนักประพันธ์เพียงอย่างเดียว เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวนักประพันธ์ ภาพเขียน บทกวี ส่งผลต่อเพลง และเป็นแรงบันดาลใจได้หมด ไม่ใช่แค่ภาพ งานเขียน เรื่องราวในชีวิตที่ส่งผลต่อการประพันธ์เพลงนะคะ เพราะกลับกัน มีภาพเขียนหลายภาพ บทกวีหลายบท งานเขียนหลายงาน ที่ได้แรงบันดาลใจจากเพลงในยุคนี้เช่นเดียวกัน งานศิลป์เริ่มทำงานกันเป็นทีมมากขึ้น นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของศิลปะผสมผสานจนมาถึงยุคนี้นะคะ ตัวอย่างที่เห็นๆ ก็อย่างเช่น บทประพันธ์ชื่อเรื่อง Manfred ของ Lord Byron เนื้อเรื่องเกี่ยวกับชายหนุ่มนาม Manfred ผู้ซึ่งทุกทรมานกับความรู้สึกผิดหลังจากคนรักตาย Manfred ขายวิญญาณให้ปีศาจเขาร่ายมนต์ดำเพื่อเจอเธออีกครั้งและเพื่อได้รับการอภัยโทษที่รักเธอผู้ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติอันมิอาจเป็นไปได้ บทประพันธ์ Manfred ถูกใจ Schumann และเกิดเพลงที่ชื่อ Manfred: Dramatic Poem with Music in Three Parts ขึ้น และก็ยังถูกใจ Tchaikovsky จนเกิด Manfred's Symphony ด้วยในที่สุด (นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนอีกหลายภาพที่วาดขึ้นเพราะบทประพันธ์เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจ)
ต่อไปนี้คือบทเพลง Manfred's Symphony ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่อง Manfred นะคะ
แนวเพลงของยุค Romantic นั้นแสดงความเป็นตัวตน และขยายแนวเพลงออกไปไกลขึ้น ส่งผลให้มีเรื่องของการประพันธ์เพลงที่ผสมผสานท่วงทำนองเพลงพื้นเมืองเข้ามา ประกอบกับสังคมสมัยนั้นที่เริ่มมีการล่าอาณานิคม สงคราม การแย่งชิงพื้นที่ ความภูมิใจเกี่ยวกับชาติบ้านเมืองแสดงออกมาในศิลปะและเพลง เพลงที่ได้รับอิทธิพลมาจากเพลงพื้นเมืองอย่างเช่น Polonaise และ Mazurka ซึ่งเป็นแนวเพลงที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากเพลงพื้นเมืองของโปแลนด์ นี่เป็นเหตุที่ว่าทำไมนักเปียโนชาวโปแลนด์อย่าง Chopin จึงชอบแต่งเพลงสองประเภทนี้มากกว่าใครๆ
สิ่งเหล่านี้ที่กล่าวไป เป็นจุดเด่นๆ ของยุคโรแมนติกค่ะ เพลงที่สื่ออารมณ์ความรู้สึก ไม่ว่าจะ รัก โกรธ เกลียด ดีใจ เสียใจ ฟังเพลงแล้วเห็นภาพโน้นภาพนี้ มีเอกลักษณ์เฉพาะเพลง นี่คือโรแมนติก สิ่งที่ทำให้โรแมนติกสามารถแสดงความเป็นโรแมนติกได้ หนึ่งในนั้นก็ต้องขอบอกว่าเป็นเรื่องของนวัตกรรมนะคะ ยุค Romantic เปียโนได้รับการพัฒนาสูงค่ะ ทำให้สามารถเล่นเทคนิคที่ส่งผ่านอารมณ์ได้ดี นอกจากนี้วงออเครสต้าในยุคนั้นก็ถูกเพิ่มเครื่องดนตรีมากชิ้นมีผู้เล่นเป็นร้อยๆ คนต่อหนึ่งวง มีการนำอุปกรณ์บางอย่างที่ไม่ใช่เครื่องดนตรี มาเคาะ มาตี ให้เกิดเสียงที่แปลกออกไป ความแน่นของเพลง ความวิจิตรพิสดารเกิดขึ้นเพื่อส่งต่ออารมณ์นั้นๆ ให้ผู้ฟังได้เห็นภาพยิ่งขึ้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทำไมยุคนี้ถึงได้ชื่อว่า Romantic และทั้งนี้ทั้งนั้น ยุคนี้ได้ส่งต่อวิธีคิดที่เปลี่ยนไปจนศิลปะมีแนวคิดทางปรัชญาที่ซับซ้อนมากขึ้นถึงทุกวันนี้ค่ะ
คนแรกที่น่าจะกล่าวถึงเป็นอย่างยิ่งคือ Frederic Chopin นักเปียโนและนักประพันธ์เพลงชาวโปแลนด์ค่ะ Chopin ประพันธ์เพลงเปียโนไว้มากมายเหลือพรรณนา และยังทั้งประพันธ์แบบฝึกหัดขั้นสูงสำหรับการเล่นเปียโนหลากหลายสไตล์ด้วย เพลงของโชแปงมีทั้งความหวาน ความเศร้า ความรัก ปะปนกันไปมากบ้างน้อยบ้าง เขาเป็นหนุ่มเจ้าชู้ที่อาภัพรักแท้คนนึง ส่งผลให้บทเพลงของเขาหวานลึกถูกอกถูกใจใครต่อใครหลายคน เพลงที่ฮิตๆ ก็คงจะเป็นเพลงวอล์ซที่มีชื่อเล่นว่า Minute Waltz และเพลงที่ดังๆ อีกเพลงก็เห็นจะเป็นเพลงหวานๆ อย่าง Etude Op10 No3 ซึ่งโชแปงประพันธ์ไว้เป็นบทเรียนสำหรับฝึกเทคนิคทางเปียโนโดยเฉพาะ
ต่อมาที่อยากจะแนะนำ เขาคือ Johannes Brahms นักประพันธ์ชาวเยอรมัน ในยุคที่เขาเติบโตขึ้น แนวเพลงของเขาไม่น่าจะเป็นที่นิยมเอาเสียเลย เขาไม่ถูกกับนักประพันธ์ดังๆ ในยุคนั้นหลายๆ คน ถึงกระนั้นเขาก็ยังยืนหยัดที่จะทำสิ่งที่ตนชอบ Symphony แต่ละเบอร์ของเขาใช้เวลาในการประพันธ์นานๆ ทั้งนั้น ทำให้เขาเป็นอีกหนึ่งนักประพันธ์ที่แต่ง Symphony น้อยมากแต่ได้งานออกมาคุณภาพ จนมีคนเทียบเขาเป็น Beethoven เบอร์สองทีเดียว ผลงานที่ดังมากของเขา ใครๆ รู้จักก็เห็นจะเป็น Hungarian Dance No.1 in G Minor ที่ใครฟังก็คงต้องร้องอ๋อ
ยุคโรแมนติกปลายๆ คนที่ดังๆ หนีไม่พ้น นักประพันธ์ชาวรัสเซียอย่าง Pyotr Ilych Tchaikovsky เพลงดังๆ ของเขาเป็นเพลงที่ประพันธ์เพื่อประกอบการแสดงบัลเล่ต์อย่าง Swan Lake, The Sleeping Beauty, และ Nutcracker เพลงหลายเพลงของเขาถูกใช้ในฉากต่างๆ ของภาพยนตร์ หนัง ละคร หลายเรื่องในปัจจุบันค่ะ Tchaikovsky เป็นอีกคนที่มีหัวคิดล้ำ (ไปหน่อย) แรกเริ่มเขาประพันธ์เพลงที่ต้องใช้ปืนมายิงประกอบเพลงของเขาในวงออเครสต้า เปิดแสดงครั้งแรกคนก็หนีหมดเพราะเสียงโป้งป้างฟังไม่ได้ศัพท์ อย่างไรก็ดีแนวใหม่ๆ หลายอย่างของเขาได้รับการยอมรับและดังจนถึงทุกวันนี้นะคะ
ยุคโรแมนติกหลังๆ จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงยุค 20th Century แล้วก็ได้นะคะ นักประพันธ์และนักเปียโนชาวรัสเซียท่านนึง Sergei Rachmaninoff ก็ถือกำเนิดขึ้น เขาได้รับอิทธิพลนักประพันธ์ชาวรัสเซียคนก่อนหน้าอย่าง Tchaikovsky ค่ะ เขาเหมือนเป็นตัวแทนเพลงยุคโรแมนติกตอนปลายของรัสเซียเลยก็ว่าได้ แต่ก่อนที่เขาจะประสบความสำเร็จชีวิตของเขาค่อนข้างทุลักทุเล เขาเครียดจัดหลังจาก Symphony เบอร์แรกของเขาพลาดท่า ทั้งที่เขาอุตส่าห์ทุ่มเทชีวิตกับมัน เขาไปรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวทย์อยู่นานพอดู ยังดีที่มีคุณหมออย่าง Nikolai Dahl คอยช่วยเหลือ เมื่อ Rachmaninoff ได้รับการบำบัดจนสภาพจิตฟื้นฟู ก็ได้เวลาแต่งเพลงต่อ เขาแต่งเพลงอย่าง Piano Concerto No.2 มอบเป็นของขวัญอันลำค่าแก่คุณหมอ Nikolai Dahl เพลงนี้ถือเป็นเพลงแห่งความสำเร็จของเขาได้เลยทีเดียวค่ะ
ความจริงนักประพันธ์เด่นๆ ในยุคโรแมนติกค่อนข้างเยอะมากนะคะ เพราะอย่างที่เอ่ยว่าเพลงในยุคนี้แสดงถึงความเป็นตัวตนที่มากขึ้น เมื่อเทียบกับเพลงในยุคก่อนหน้า เลยทำให้ใครๆ ก็มีแนวเด่นๆ ของตนเองเพิ่มขึ้นมา ที่ยกตัวอย่างนี้เป็นเพียงศิลปินจำนวนนึงจากศิลปินเด่นๆ นะคะ ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Romantic_composers ดูแล้วกันนะคะ เพื่อจะเจอชายหนุ่มนักประพันธ์เพลงที่ถูกใจ
จบลงแล้วสำหรับยุคทั้งสาม กับบทความทั้งสามตอนนะคะ หวังว่าผู้ติดตามอ่านคงจะได้อะไรติดกลับไปบ้าง อย่างน้อยฟังเพลงคลาสสิคสักเพลงก็อาจจะพอเดาๆ ได้บ้างว่าเพลงนี้เพลงนั้นอยู่ในยุคอะไร
ขอขอบคุณที่ติดตามอ่านมาจนจบค่ะ
<<< ตอนก่อนหน้า |